วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

เปิดบทสัมภาษณ์ อ.ยักษ์ ก่อนนั่งเก้าอี้ รมช.เกษตร ร่วม ครม.ประยุทธ์ 5

 

ท่ามกลางกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 5 โดยหนึ่งในรัฐมนตรีที่อยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” มีชื่อของ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

 

ตลอด 16 ปีที่ อ.วิวัฒน์ ตามเสด็จฯ ถวายงานใกล้ชิดในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำให้พบว่าหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรง เน้นการพัฒนาทุกมิติ โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาคน ดิน น้ำ ป่า และอาชีพ

 

อ.วิวัฒน์ เผยว่า ทฤษฏีใหม่ของพระองค์มีเป็นหลายสิบทฤษฎี ทฤษฎีเรื่องการพัฒนาคน ก็ทรงสร้างทฤษฏีใหม่ คือ ทฤษฎีการศึกษานั่นเอง ทฤษฎีการเกษตร ก็ได้ทรงสร้างไว้ให้ หรือจะเป็นทฤษฎีดิน ทั้งดินเค็ม แกล้งดิน ทฤษฎีเรื่องน้ำ ก็มีหลายสิบทฤษฎี

 

“ในโลกมีทฤษฎีเสรีนิยม ทฤษฎีทุนนิยม ทฤษฎีการค้าเสรี ทฤษฎีสังคมนิยม ทฤษฎีเศรษฐกิจชุมชน ของพระองค์ก็มีทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เป็นทฤษฎีใหม่ภายใต้ปรัชญาใหม่ ส่วนปรัชญาเก่ามีมาอย่างไร พระองค์ทรงรู้ เพราะทรงเกิดอเมริกา และทรงโตที่สวิส ทรงรู้จักโลกเสรีนิยม โลกสังคมนิยม โลกคอมมิวนิสต์ ทรงรู้จักดี ฉะนั้น วิธีคิดของพระองค์จึงเข้าใจโลก”

งาน อ.ยักษ์ “มหา’ลัยคอกหมู”

 

อ.ยักษ์ ทำงานขับเคลื่อนศาสตร์พระราชามาตลอดเกือบ 20 ปี ภายใต้ “มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง จ.ชลบุรี” โดยภายในศูนย์มีการดำเนินงานของหน่วยงาน 5 องค์กร ได้แก่ 1.ศูนย์ฝึกอบรม 2.ค่ายพักพิง 3.วัด 4.ชุมชนกสิกรรมวิถี 5.โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย เปิดสอนระดับประถม มัธยม ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เปิดสอนหลักสูตรศาสตร์พระราชา โดยได้รับการรับรองจากระทรวงศึกษาธิการ

 

ซึ่งที่นี่ มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า “มหา’ลัยคอกหมู” เพราะเดิมก่อน อ.ยักษ์เข้ามาพัฒนาพื้นที่ เคยใช้เป็นเล้าหมูมาก่อน

 

“ศูนย์ฝึกของเราจะเปิดอบรมเรื่องศาสตร์พระราชาสำหรับ คนทั่วไป ช่วงแรกผู้ที่มาเรียนรู้กับเรา เป็นเกษตรกร 100 เปอร์เซ็นต์ ผ่านไปสัก 2-3 ปีก็เริ่มมีอาชีพอื่นๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักวิจัยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายแบงค์ วิศวกร แพทย์ และคนเมืองก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนเมืองเหล่านี้ อยากมีชีวิตแบบพอเพียง หรือบางคนบริษัทกำลังจะปิดตัวลง ก็มาหาความรู้ว่าจะมีชีวิตใหม่ได้อย่างไร หรือข้าราชการเกษียณแล้ว อยากมีชีวิตแบบผม ก็มาเรียนกัน ระยะหลังเกษตรกรแท้ๆ ไม่ค่อยมี แต่เป็นคนเมืองมีการศึกษาดีๆ ทั้งนั้น”

 

ปัจจุบันที่ผู้สนใจมาอบรมแล้วกว่า 500 รุ่น หลักสูตรออกแบบตามวัตถุประสงค์ของผู้เรียน เพราะศาสตร์ของพระราชามีมากมาย จึงเน้นสอนตามที่ความสนใจของผู้เข้ารับการอบรม อาทิ หลักสูตรด้านการเกษตร หลักสูตรผู้บริหาร เป็นต้น

 

“หลักสูตรถูกออกแบบตามวัตถุประสงค์ของผู้เรียน ไม่ได้ออกแบบตามผู้สอน หลักๆ สิ่งที่ต้องบังคับให้เรียน คือ เรียนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว เปรียบเทียบกับปรัชญาทุนนิยม และสังคมนิยม เราต้องทำความเข้าใจปรัชญาเดิมก่อน ขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาใหม่ โดยหัวใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การให้ การสร้างสรรค์ แบ่งปัน ขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจการค้าเสรี คือ การแข่งขันและแย่งชิงกัน แข่งกันก็มีคนแพ้ชนะ ส่วนปรัชญาสังคมนิยม เป็นปรัชญาที่รัฐบังคับเอามาแบ่งกัน ต้องกระจายรายได้

 

“ทั้ง 3 ปรัชญานี้ไม่เหมือนกัน ของพระองค์เป็นปรัชญาแห่งการสร้างสรรค์ ให้มีพอกินพออยู่พอใช้ ให้สภาพแวดล้อมดี และทำบุญทำทานแบ่งปันกัน แล้วค่อยไปขายทีหลัง หัวใจต่างกัน”

 

“แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ต้องขยันเหมือนกัน ต้องทำบัญชีเหมือนกัน ประหยัดเหมือนกัน คือโลกคอมมิวนิวส์ โลกสังคมนิยม และโลกของความพอเพียง เหมือนกันเยอะ แต่จุดต่าง คือ ไปแย่งกัน ไปแข่งกัน อันนี้ไม่แข่ง อันนี้ช่วยเหลือกัน คิดต่างกัน”

 

อย่างไรก็ตาม อ.ยักษ์ ชี้ว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจความพอเพียงแค่ว่า “พอกินพออยู่พอใช้” แต่ไม่เข้าใจว่า คือ “การสร้างสรรค์ การแบ่งกัน”

 

“คนไม่เข้าใจพระองค์ เบือนหน้าหนี ดูถูก เห็นเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาหลังเขา พระองค์ทรงไม่ได้อธิบายอย่างนั้นสักนิด”

 

นอกจากเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว หลักสูตรของศูนย์อบรมก็เปิดให้ผู้เรียนเรียนรู้ทฤษฎีกว่า 40 ทฤษฎีของในหลวง ร.9 โดยเรียนตามความถนัดของผู้เรียน จากนั้นเข้าสู่การลงมือปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วก็ต้องมีการบันทึกบทเรียนความรู้ที่ได้ ว่ามีทฤษฎีอะไรเกิดขึ้น นวัตกรรมอะไรเกิดขึ้น สุดท้าย เรียนรู้การบริหารความเสี่ยงภายใต้ความขาดแคลน งบประมาณไม่พอ กำลังพลไม่พอ เครื่องจักรไม่พอ เป็นการบริหารแบบ “คนจน”

 

“การทำแบบคนจน เข้าถึงคนง่าย คนมาดู กลับไปบ้าน ก็ทำตามได้ทันที ถ้าทำแบบทุกอย่างพร้อมสรรพ กลับไปก็ทำตามไม่ได้ ในหลวง ร.9 ทรงสอนว่า ถ้าเราแจกสิ่งของเท่าไหร่ก็ไม่พอ ถมทะเลมันไม่เต็มหรอก แต่ต้องให้ความรู้เขาและให้เขาไปสร้างสรรค์เอง”

 

โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย

อ.วิวัฒน์ เผยว่า โรงเรียนนี้ตั้งตามหนังสือพระมหาชนก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยจดทะเบียนเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ตามมาตรา 42 ของพ.ร.บ.การศึกษา เปิดชั้นประถมกับมัธยม

 

ขณะที่ระดับปริญญาตรี เป็นหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม โดยจับมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ เปิดสาขาใหม่ ชื่อว่า สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนปริญญาโท หลักสูตรครู เรียนกับสถาบันอาศรมศิลป์ 2 วัน นอกนั้นมาเรียนที่มาบเอื้อง

 

“ทุกระดับชั้นเปิดมาได้ 4 ปีแล้ว มีนักเรียนทั้งหมด 60 ชีวิต ที่นี่เราให้เรียนฟรี อยู่ฟรีทั้งหมด หลักสูตรเรียนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงล้วนๆ โดยระดับประถมและมัธยม จะบูรณาการการเรียนให้เข้ากับความรู้ 8 สาระวิชาที่กระทรงศึกษาธิการกำหนด เป้าหมายของที่นี่คือ 1.ต้องเป็นคนดี มีวินัย และภูมิใจในชาติ 2.ต้องพึ่งตนเองได้ เศรษฐกิจพัง แต่เด็กพวกนี้ไม่อดตาย 3.ต้องมีเชี่ยวชาญตามความถนัด 4.ต้องกตัญญูกตเวทีต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ”

 

กระแสเศรษฐกิจพอเพียงมาแรง

เหตุผลที่คนสนใจมากขนาดนี้ “เพราะศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9”

 

“ยิ่งช่วงนี้ ยิ่งบูมมาก” อ.วิวัฒน์เผย และว่า ตั้งแต่วิกฤตต้ำยำกุ้ง ปี 2540 เป็นต้นมา กระแสเศรษฐกิจพอเพียงมาแรงมาก แต่ก็ค่อยๆ ซาไปในช่วงหลังๆ และมาได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2550 ภายหลังเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จากนั้นก็มาแรงอีกทีช่วงก่อนสวรรคต เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี

 

“กระทั่งพระองค์สวรรคต คนโศกเศร้าเสียใจ และคิดถึงพระองค์ กระแสก็กลับมาแรงอีกครั้ง เพราะคนอยากเรียนรู้ อยากสัมผัส อยากมาฟังคำสอนของพระองค์ และไม่ใช่มาเฉพาะที่นี่ แต่เขาไปทุกที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้สืบทอดงานของพระเจ้าอยู่หัว”

 

อ.วิวัฒน์ บอกอีกว่า แต่ก็มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ที่มาเรียนรู้งานของในหลวง ร.9 อย่างจริงจัง ขณะที่อีก 80 เปอร์เซ็นต์มาเพราะกระแสที่ตามๆ กันมา

 

“สำหรับผม เพียง 1 เปอรเซ็นต์ ก็ดีแล้ว ขอให้ไปทำแล้วเห็นผล มา 100 คน มี 1 คน ไปทำจนเห็นผล แค่นี้ก็พิสูจน์แล้วว่า คำสอนพระเจ้าอยู่หัวเป็นจริง เพราะจะทำให้คนที่เขามองอยู่ไปทำตาม”

 

อย่างไรก็ตาม อ.วิวัฒน์ห่วงว่า ต่อไปในระยะยาว “คนจะลืม” จึงแนะว่าต้องมีการจัดระบบกลไลที่ทำให้สืบสานเป็น 100 เป็น 1,000 ปี

 

“คำสอนของพระองค์นั้นดีจริงๆ แต่ถ้าไม่มีคนเอาไปพิสูจน์ ไม่มีคนเอาไปทำ ไม่มีรุ่นลุกรุ่นหลาน สืบสาน สานต่อ สิ่งดีๆ เหล่านี้ก็จะค่อยๆ จางไป”

 

แผนสืบสานศาสตร์พระราชา 3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคส่วน

อ.วิวัฒน์ ในฐานะประธานอนุกรรมการกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนศาสตร์ พระราชา สภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสรุปออกมาเป็นแผน 3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคส่วน ซึ่งครม.เห็นชอบแล้ว

 

อ.วิวัฒน์ อธิบายแผน 3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคส่วน ไว้ว่า

 

“3 ระดับ”

1.ต้องมีผู้รับผิดชอบระดับชาติ ต้องมีทีมรับผิดชอบเป็นเรื่องเป็นราว ทำต่อเนื่อง เพราะการทำต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญมาก เปลี่ยนรัฐบาล แต่แผนนี้ต้องไม่เปลี่ยน

2.ต้องมีผู้รับผิดชอบระดับจังหวัด โดยต้องมีทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเข้ามาร่วมกันทำ อย่าเอาเฉพาะภาครัฐ

3.ต้องมีผู้รับผิดชอบระดับพื้นที่จริง คือ มี 2-3 ครอบครัว หรือเป็นชุมชนก็ได้ โดยเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ หรือมีตัวอย่างความไม่สำเร็จด้วยก็ได้ เพราะมีประโยชน์ทั้งคู่”

 

“5 กลไก”

“ให้ทั้ง 3 ระดับ ทำ 5 กลไก คือ 1.มีกลไกการประสานงาน อย่างต่างคนต่างทำ ถ้าต่างคนต่างทำ ไม่นานก็หมด เพราะรุ่นนี้ตายก็จบ

2.แต่ละหน่วยงาน ต้องมีแผนยุทศาสตร์ของตัวเอง 10 หน่วย มี 10 แผนยุทศาสตร์ จากนั้นจึงค่อยบูรณาการแผน แล้วค่อยลงมือปฏิบัติ ต้องมีกลไกในการบูรณาการแผน

3.ต้องมีกลไกการจัดการความรู้ ทำแล้วเรื่องนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็ต้องบันทึกเรื่องราวลงให้สังคมรู้

4.ให้มีนวัตกรรมขึ้นมาแล้วสืบสานไว้

5.เอาประสบการณ์ทั้งหมดที่ทำสื่อสารสู่สังคม สังคมจะได้ไปร่วมมือกัน ทุกภาคส่วนจะได้ช่วยกัน คำว่าทุกภาคส่วน คืออีก 7 ส่วน

 

“7 ส่วน”

1.ภาคประชาชน 2.ศาสนา 3.วิชาการ 3. สื่อมวลชน 5.ประชาสังคม 6.ภาครัฐ 7.เอกชน

“ทั้ง 7 ส่วนรวมกัน หรือแม้ไม่ครบ มีแค่ 5 ส่วน ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร คนมาสามัคคีกัน เวลาเอามื้อสามัคคี ทุกคนมาช่วยกันหมด มันสร้างได้ พลังสามัคคีอย่างนี้ ทั้ง 7 กลไก หรือไม่ครบก็ไม่เป็นไร ก็จะทำให้เรื่องนี้ สืบทอดต่อเนื่อง เราก็เสนอแผน รัฐบาลเห็นชอบ ครม.เห็นชอบ สั่งการลงมาให้ทุกหน่วยทำ แต่ราชการอย่างเดียวไม่ได้ ภาคส่วนอื่นๆ ต้องลุกขึ้นมาทำ อย่างนี้จะอยู่ยั่งยืนได้เป็น 100 เป็น 1,000 ปี”

 

เศรษฐกิจพอเพียงต้องเข้าใจทุกระดับ

“นอกจากเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ก็ยังมีเรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องข้าวปลาอาหาร เรื่องการทูต การเมือง แต่ทุกอย่างดำเนินอยู่ภายใต้ความพอเพียง พระองค์รับสั่งว่า โดยเฉพาะนักวิชาการ นักบริหาร ถ้าไม่เข้าใจความพอเพียง ไม่มีความพอเพียงอยู่ ประเทศนั้นจะลำบาก เพราะนักวิชาการจะนำพาคนไปสู่ความก้าวหน้าอย่างมาก และถอยหลังอย่างน่ากลัว ดังนั้นต้องเข้าใจ นักวิชาการต้องเข้าใจความพอเพียง นักบริหาร อย่าง ผู้ว่าฯ ถ้าไม่เข้าใจความพอเพียง จังหวัดนั้นจะยุ่ง นายกฯ ถ้าไม่เข้าใจจะยุ่ง ฉะนั้นความพอเพียงต้องเป็นทุกระดับ”

 

เข้าใจคำว่า “พอเพียง”

อ.ยักษ์ อธิบายว่า ความพอเพียง มองอย่างน้อยต้องมอง 5 ด้านถึงจะเข้าใจ

1.ต้องเข้าใจปรัชญาของความพอเพียงให้ได้ว่าต่างจากปรัชญาที่โลกกำลังเป็นอย่างไร

“แน่นอน ปรัชญาแห่งความพอเพียง คุณต้องสร้างให้มีความพอกิน พออยู่ พอใช้ พอเหลือก็ต้องรู้จักพอ และรู้จักแบ่งปัน นี่คือ หัวใจของความพอเพียง”

2.ทฤษฎี คือ หลักการ นั่นเอง ซึ่งศาสตร์พระราชก็มี 40 กว่าทฤษฎี

“ถ้าคุณจะทำการพัฒนาดิน มันก็มีหลักการ มีกฎเกณฑ์ของมัน คุณต้องรู้ ความรู้สำคัญมาก รู้แล้วขี้เกียจ ไม่มีทางทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ รู้แล้วต้องขยัน ดินก็จะดีขึ้น”

  1. ศาสตร์แห่งความพอเพียง อย่าข้ามขั้นตอน

“พระองค์ทรงเปรียบเหมือนสร้างบ้าน ต้องสร้างฐาน สร้างเสาเสียก่อน แล้วค่อนสร้างพื้น สร้างฝา สร้างโครงหลังคา นี่คือ หัวใจของความพอเพียง”

4.ความพอเพียง ก็ต้องมีเทคนิค มีนวัตกรรม มีเคล็ดวิชาของความพอเพียง จึงจะพอ ไม่งั้นไม่พอ

5.ต้องเข้าใจวิธีบริหารภายใต้ความขาดแคลน หรือ แบบคนจน

 

“ทฤษฎีที่ท่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข อันนั้นเป็นปรัชญาที่เด็กท่องกัน แต่จะนำปรัชญามาสู่การปฏิบัติให้เกิดผล ให้ชีวิตพอได้จริง เราต้องทำให้ครบ 5 ข้อนี้ เปรียบเหมือนนิ้วมือ ถ้าครบองค์ประกอบทั้ง 5 นิ้ว มือจะมีพลัง ความพอเพียงก็จะมีพลัง และถ้าคุณได้ลิ้มรสของความพอเพียงสักครั้งเดียว คุณจะลืมรสอื่นๆ เพราะรสของความพอเพียงอร่อยกว่า มันแซ่บกว่า การที่มีเงินมาก หรือได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง มันก็เป็นความสุข แต่มันคนละรสชาติ กับการรวยความพอเพียงที่มันกลมกล่อมกว่า”

 

หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ความพอเพียงพลิกแต่ชีวิตคนจนเท่านั้น หาก อ.ยักษ์ แย้งว่า ได้พลิกชีวิตคนรวยแต่คุณภาพชีวิตต่ำ มาเป็นคนรวยแต่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มากมาย

 

“คนรวยก็มีคุณภาพชีวิตต่ำมากมีเยอะแยะไป ลูกเป็นโรคอ้วน ลูกทะเลาะกับพ่อแม่ ครอบครัวมีแต่ทุกข์เข็ญ แต่มีเงินเป็นพันล้าน เราพลิกชีวิตเขาให้กลับมามีความสุขกัน เขาไม่ได้จนลงเลย แต่เค้ามีคุณภาพชีวิตใหม่ ในบ้านมีพลัง มีความสามัคคีขึ้น”