พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทีมีพระอัจฉริยภาพในด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งซึ่งทำให้เราชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ นั่นก็คือ การที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวของสยามที่สามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ ได้อย่างแม่นยำเร็วกว่านักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสถึง 2 วินาที
แต่พระราชกรณียกิจอีกอย่างหนึ่งของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจแก่ประเทศของเรา แต่คนไทยอีกหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ ก็คือ การที่ทรงสถาปนาเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศสยาม หรือที่เราเรียกกันว่า Bangkok mean time ก่อนชาติใดๆ ในโลก
ปี พ.ศ. 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้างพระราชมณเฑียรที่ประทับขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ณ บริเวณสวนขวา แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ถึงแก่พิราลัย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้างต่อมา โดยมีกรมหมื่นราชสีหวิกรม (พระยศในขณะนั้น) เจ้ากรมช่างสิบหมู่ เป็นนายช่างก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2400 พระราชทานนามหมู่พระราชมณเฑียรนั้นว่า “พระอภิเนานิเวศน์” ทรงประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรและขึ้นประทับเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 4 ค่ำ พ.ศ. 2402 (กำลังตรวจสอบปี พ.ศ.)
พระอภิเนานิเวศน์ ประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ หลายองค์ องค์หนึ่งคือ “พระที่นั่งภูวดลทัศไนย” ตั้งอยู่ด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม(เดิม) ตรงพุทธนิเวศน์ ซึ่งเป็นพระที่นั่งตึกสูง 5 ชั้น ชั้นบนสุดติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้ง 4 ด้าน มีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวง เพื่อทำหน้าที่บอกและรักษาเวลามาตรฐาน ดังปรากฏในประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ 306, พ.ศ. 2411
“…จะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ว่าเมืองเรา ใช้เครื่องมือนับทุ่มโมง เวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย เพราะเหตุฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพินิจพิจารณาตรวจตราคำนวณความดำเนินพระอาทิตย์ ให้ฤดูทั้งปวงสอบกับนาฬิกา ที่ดีมาหลายปีทรงทราบถ้วนถี่ทุกประการ แจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว…”
และด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ได้ทรงกำหนดให้เส้นแวง 100 องศา 29 ลิปดา 50 ฟิลิปดา ตะวันออก เป็นเส้นแวงหลักผ่านพระที่นั่งภูวดลทัศไนย และได้โปรดฯ ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐาน ประจำหอนาฬิกาหลวง ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ไทยชุดแรก คือตำแหน่งพันทิวาทิตย์ มีหน้าที่เทียบเวลากลางวันจากดวงอาทิตย์ และตำแหน่งพันพินิตจันทรา ทำหน้าที่เทียบเวลากลางคืนจากดวงจันทร์ โดยสังเกตจากดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ที่เคลื่อนผ่านเมอริเดียนของสถานที่สังเกตการณ์ของบุคคลทั้งสอง ซึ่งก็คือ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย และจากการที่ทรงได้สังเกตดวงอาทิตย์บนท้องฟ้ามานานหลายปี ทรงพบว่าการขึ้น ตก และแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในเดือนต่างๆ นั้น แตกต่างกัน ที่หอนาฬิกาหลวงจึงมีการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นรายวันทุกๆ วัน เพื่อตั้งปรับเวลาที่หอนาฬิกาหลวงตามที่ได้คำนวณไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นเวลามาตรฐานกรุงเทพปานกลาง หรือที่เรียกว่า Bangkok mean time ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วกว่าที่กรีนิช 6 ชั่วโมง 42 นาที ดังนั้นประเทศไทยของเราจึงมีเวลามาตรฐานเป็นของตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 และได้มีการออกพระราชกำหนดเรื่องนาฬิกา ในปี พ.ศ. 2411 อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาล จึงนับได้ว่าประเทศไทยมีเวลามาตรฐานอย่างถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์เป็นชนชาติแรกของโลก เพราะ ณ เวลานั้นแม้แต่หอดูดาว ที่ตำบลกรีนิช ประเทศอังกฤษก็ยังไม่มีการกำหนดเวลามาตรฐาน รัฐสภาอังกฤษเพิ่งจะมีการออกพระราชบัญญัติเวลามาตรฐานเมื่อปี ค.ศ. 1880 (พ.ศ. 2423) และในปี ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) นักดาราศาสตร์จึงได้ตกลงกันกำหนดเส้นแวงที่ผ่านเมืองกรีนิชเป็นเส้น 0 องศา เพื่อใช้เทียบเวลาโลก
นอกจากหอนาฬิกาหลวงที่พระที่นั่งภูวดลทัศไนยแล้ว ยังปรากฏหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนราชสีหวิกรมทรงออกแบบสร้างหอนาฬิกา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณมุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในปัจจุบัน เชื่อกันว่ามีพระราชประสงค์จะให้ชาวเรือขึ้นล่องแม่น้ำเจ้าพระยามองเห็น และเทียบเวลาเดินเรือได้สะดวก สำหรับพระที่นั่งภูวดลทัศไนยนั้นได้ถูกรื้อลงในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อสร้างทิมดาบใหม่
ภายหลังในปี พ.ศ. 2462 ได้มีการประชุมสภาสากลอุทกนิยม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อแบ่งภาคเวลา โดยกำหนดให้ตำบลกรีนิช เป็นจุดแรกของการกำเนิดเวลา ประเทศไทยจึงได้มีการกำหนดเวลามาตรฐานใหม่ จากเส้นแวงที่ 100 ตะวันออก ซึ่งพาดผ่านพระบรมมหาราชวัง มาเป็นเส้นแวงที่ 105 องศาตะวันออก จังหวัดอุบลราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้ใช้อัตราเวลาทั่วราชอาณาจักรไทย เป็น 7 ชั่วโมงก่อนเวลาที่ตำบลกรีนิช กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2463 นับตั้งแต่นั้นมา
ภาพ: “เห็นหอนาฬิกา” ซึ่ง เอนก นาวิกมูล (นักวิชาการ นักเขียนสารคดี นักสะสมของเก่า และ ยังเป็นผู้ก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์) ตีความจากเรื่องนาฬิกาได้ว่า ตั้งอยู่หน้าหอคองคอเดีย (ศาลาสหทัยสมาคม ตรงสนามหญ้าหน้าวัดพระแก้ว) อยู่ระหว่างทิมดาบกับโรงทอง ข้างบนทำอย่างหลังคาตัด มีลูกกรง ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 25 กล่าวว่า รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนราชสีหวิกรม (ต้นสกุล ชุมสาย) คิดแบบ เป็นหอสูง 10 วา มีนาฬิกาทั้ง 4 ด้าน รื้อเสียเมื่อจะสร้างทิมดาบใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพจากหนังสือ Ein Welt-und Forschungsreisender mit der Kamera 1844-1920 ภาษาเยอรมัน รวบรวมผลงานถ่ายภาพของ วิลเฮล์ม เบอร์เกอร์ (Wilhelm Burger) ซึ่งเข้ามาเมืองไทยพร้อมคณะฑูตเมื่อ พ.ศ.2412
ภายในภาพยนตร์ ทวิภพ ในปี พ.ศ. 2547 อธิบาย เรื่อง Bangkok Meantime ไว้อย่างน่าสนใจมากครับ
“มันก็แค่เรื่องของเวลา หนูมณี ชาวสยามเนี่ย เรากำหนดเวลามาตรฐานของเราเองมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 แล้ว มันเป็นเวลาส่วนตัวของเราจริง ๆ ก่อนเวลามาตรฐานของกรีนิชในลอนดอน ตั้ง 10 กว่าปี แล้วนี่หมู่พระที่นั่งอภิเนานิเวศน์ ตรงนี้เค้าเรียกพระที่นั่งภูวดลทัศไนยมันก็หอนาฬิกานั่นแหละ ตรงนี้เป็นเหมือนศูนย์กลางเวลาของสยามในตอนนั้น สร้างเสร็จก่อนหอนาฬิกา Big Ben ในลอนดอนเกือบ 2 ปี Bangkok Mean Time เท่มั้ยหละ คนเดียวที่ทำอย่างนี้ได้ เอ๊ ไม่ใช่คนเดียวสิ พระองค์เดียวที่ทำอย่างนี้ได้ เท่มั้ยหละ”