วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

“กระทรวงการต่างประเทศ” ผิดหวังรายงาน “ฮิวแมน ไรทส์ วอทช์” เต็มไปด้วยอคติทางการเมือง

“กระทรวงการต่างประเทศ” ผิดหวังรายงาน “ฮิวแมน ไรทส์ วอทช์” ชี้เป็นการเหมารวม ขาดพยานหลักฐาน เต็มไปด้วยอคติทางการเมือง

กระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี ค.ศ.2018 (World Report 2018) ขององค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ (Human Rights Watch-HRW) โดยระบุว่า

1.รายงานดังกล่าวได้กล่าวหาโดยเหมารวม ขาดพยานหลักฐาน และเต็มไปด้วยอคติทางการเมือง ปราศจากการนำเสนอข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในพื้นที่ ความคืบหน้า พัฒนาการด้านบวก และความพยายามของรัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่ในปีที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีช่องทางหารืออย่างไม่เป็นทางการกับองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง HRW ในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยมีผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ข้อมูลเหล่านี้ที่จะช่วยสร้างความกระจ่างให้กับหลายประเด็นที่ถูกกล่าวหาในรายงานไปไม่ถึง HRW ที่นั่งเขียนรายงานอยู่อีกมุมหนึ่งของโลก และมักเลือกที่จะเพิกเฉยต่อพัฒนาการต่าง ๆ ในพื้นที่

2.รัฐบาลไทยตระหนักดีว่า การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศใดก็ตาม ย่อมสามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 รัฐบาลจึงได้ประกาศ “วาระแห่งชาติ:สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” สำหรับปี 2561-2562 ซึ่งจะทำให้สิทธิมนุษยชนถูกกำหนดให้เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานในทุกด้าน

3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประชาชนถึงร้อยละ 61 เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ให้ความสำคัญกับหลักการสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองที่เท่าเทียมกันตามกฎหมาย การไม่เลือกปฏิบัติ การห้ามทรมาน และเสรีภาพในการนับถือศาสนา นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังรับรองหลักนิติธรรมและกำหนดให้มีการอำนวยความยุติธรรมและการช่วยเหลือทางกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

4.รัฐบาลได้ปรับลดมาตรการและข้อจำกัดที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยอย่างต่อเนื่อง หลังจากประเทศไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองและการประท้วงที่รุนแรงมาหลายปี อาทิ คดีที่เดิมอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลทหารได้ถูกย้ายไปอยู่ภายใต้ศาลยุติธรรมหากกระทำความผิดภายหลังวันที่ 12 กันยายน 2560

5.พัฒนาการสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 และเมื่อเดือนมีนาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติส่ง ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้กระทรวงยุติธรรมปรับปรุงร่างเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการทบทวนร่าง พ.ร.บ. และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและจัดทำการประเมินผลกระทบของกฎหมาย ตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งมีหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้ความช่วยเหลือและการเยียวยา รวมทั้งคุ้มครองสิทธิของเหยื่อจากการทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ

6.การประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นความพยายามอีกประการหนึ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันสิทธิมนุษยชน ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลภายใต้หลักการปารีส โดยการยกร่างมีความโปร่งใสและมีส่วนร่วมผ่านการรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของฝ่ายต่าง ๆ ที่สนใจ อาทิ องค์กรเอกชน และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กรุงเทพฯ โดยได้มีการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปใช้ประกอบการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ด้วย

7.สำหรับประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รัฐบาลมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจและสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการลงนามในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาขาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยกระทรวงและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ประเทศไทย ซึ่งต่อมากระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งจะมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนวาระธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับหลักการชี้แนะฯ และกำลังยกร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ประเทศไทยจะรับการเยือนอย่างเป็นทางการของคณะทำงานว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ หลังจากที่ไม่ได้รับการเยือนของกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมาเป็นเวลานาน จึงเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นและความโปร่งใสของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันในเรื่องนี้

8.ในด้านความยุติธรรม รัฐบาลได้พยายามเสริมสร้างการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน อาทิ นโยบายการบริหารจัดการคดีความที่เข้มงวดได้ช่วยเร่งรัดกระบวนการไต่สวน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 กว่าร้อยละ 99 ของคดีซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้รับการพิพากษาภายในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนยุติธรรมและกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อจัดให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยา ทั้งในรูปแบบของเงินและความช่วยเหลือที่จำเป็น เช่น การฟื้นฟู การจ่ายเงินชดเชย และการคืนสู่สังคม

9.รัฐบาลยังได้ปรับนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดไปสู่การใช้แนวทางที่เน้นด้านสุขภาพ (health-based approach) รักษาความสมดุลระหว่างการลดอุปสงค์และอุปทานยาเสพติด และนำประเด็นคาบเกี่ยวมาร่วมพิจารณาในการดำเนินนโยบาย อาทิ สิทธิมนุษยชน เยาวชน เด็ก สตรี และชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแบบสมัครใจ และการใช้หลักการกำหนดสัดส่วนบทลงโทษที่เหมาะสมกับฐานความผิดสำหรับผู้กระทำผิดด้านยาเสพติดรายย่อยด้วย

10.ในประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน ประเทศไทยได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization on Migration-IOM) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees-UNHCR) เพื่อให้การดูแล การเข้าถึงบริการ และความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองอย่างแท้จริง ซึ่งคุณูปการเหล่านี้ของไทยก็ได้รับการยอมรับจาก UNHCR และ IOM มาโดยตลอด

11.ข้อเท็จจริงสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ตลอดช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยให้ที่พักพิงแก่ผู้พลัดถิ่นมากกว่า 1 ล้านคน และปัจจุบัน ไทยก็ยังให้ที่พักพิง ดูแลและให้บริการด้านต่าง ๆ แก่ผู้พลัดถิ่นจากเมียนมากว่า 1 แสนคน นอกจากนี้ไทยยังเคยให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางทะเลในรูปแบบไม่ปกติกลุ่มใหญ่ทั้งจากเมียนมาและบังกลาเทศ รวมถึงบุคคลที่อยู่ในความห่วงกังวลของ UNHCR ในเขตเมืองมากกว่า 7,000 คนในปัจจุบันด้วย

12.ไทยยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติและองค์กรภาคประชาสังคมบนพื้นฐานของการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ ๆ เช่น การพัฒนากลไกการคัดกรองเหยื่อการค้ามนุษย์และกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่มีประสิทธิภาพ แนวทางเลือกแทนการกักตัว โดยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและครอบครัว โครงการการขจัดภาวะไร้รัฐ การเพิ่มช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นระเบียบ และในรูปแบบปกติ เป็นต้น

13.ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ไทยได้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวกว่า 1 ล้านคนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทำให้แรงงานเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายและสามารถเข้าถึงบริการด้านสังคมต่าง ๆ ด้วย เช่น การบริการด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ ในด้านการศึกษา เด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐานสามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทย ทั้งนี้ IOM ได้ชมเชยไทยเสมอว่าเป็นประเทศผู้นำที่แท้จริงในเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานที่ไทยมีกับประเทศเพื่อนบ้านได้ช่วยเพิ่มช่องทางและโอกาสสำหรับการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงานอย่างถูกกฎหมายด้วย และปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวกว่า 550,000 คนที่ทำงานในไทยผ่านบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

14.ในด้านนิติบัญญัติ การออก พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 และ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญของความพยายามของรัฐบาลไทยในการยกระดับและทำให้มั่นใจว่ามาตรฐานการทำงานของไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ รัฐบาลไทยดำเนินงานอย่างแข็งขันเพื่อให้สามารถให้สัตยาบัน อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง และพิธีสารประกอบอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ภายในปี 2561

15.รัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพและความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยได้จัดฝึกอบรมด้านมาตรฐานและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ทหาร และผู้บังคับใช้กฎหมายตลอดทั้งปี ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่าง ๆ

เหล่านี้เป็นตัวอย่างสำคัญเพียงเล็กน้อยของการดำเนินการของประเทศไทยในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งกลับไม่ปรากฏในรายงานของ HRW ประจำปีนี้ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับรายงานของ HRW ในปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งไม่น่าประหลาดใจเมื่อคำนึงถึงอคติทางการเมืองขององค์กรนี้

รัฐบาลไทยขอยืนยันความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมไทยอย่างเข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้ต้องตระหนักด้วยว่า ทุกคนพึงต้องมีความรับผิดชอบที่จะเคารพหลักนิติธรรม และเห็นแก่ความสงบสุขและความมั่นคงของชาติ ตลอดจนสิทธิของเพื่อนร่วมชาติ เราจะไม่ยอมรับผู้ที่อ้างตัวว่าทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแต่มีวาระแอบแฝง การกระทำเช่นนั้นสมควรถูกประณาม