คองเกรสสหรัฐสายรีพับลิกัน เสนอตรวจสอบภาษีโซรอส เหตุตั้งกองทุนแทรแซงการเมืองใน Macedonia
เขียนโดย วัชรา จรูญสันติกุล | 23 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักข่าวเนชั่น
“รัฐสภาสหรัฐจับจ้องที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวหาจอร์จ โซรอส ในการเข้าแทรกแซงการเมืองในยุโรป โดยที่สมาชิกพรรครีพับลิกันรายหนึ่งในกรุงวอชิงตันเริ่มทวงถามการจ่ายภาษีของโซรอสจากการตั้งกองทุนที่เข้าไปเคลื่อนไหวแทรกแซงในสาธารณรัฐ Macedonia หลังจากที่ทางการฮังการีได้ออกมากล่าวหาโซรอสให้การสนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มเอ็นจีโอเพื่อแทรกแซงการเมืองในประเทศในช่วงก่อนหน้านี้”
ส่วนรายงาน Fed Minutes ชี้สัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมนี้ยังคงต่ำกว่า 40% ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นในเดือนมิถุนายนมีน้ำหนักมากกว่า 78% ย้ำเตือนภาวะตลาดหุ้นอย่าคาดหวังสูงเกินไป ว่าจะได้รับผลเชิงบวกจนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่แบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริลลินช์ (BofAML) ชี้เริ่มมีสัญญาณขายหุ้นของลูกค้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2016 ซึ่งตลาดหุ้น S&P 500 ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นถึง 10% แต่หลังจากการประเมินล่าสุดพบว่า ผลกำไรต่อหุ้นจะมีสัดส่วนลดลง 1%
1.การเคลื่อนไหวของจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินที่มีถิ่นกำเนิดในฮังการี ยังคงถูกจับตามองถึงบทบาทการเข้าแทรกแซงการเมืองในยุโรปโดยเฉพาะในฮังการีและ Macedonia (ซึ่งเป็นประเทศยากจนเล็กๆ ในอดีตคือประเทศยูโกสลาเวีย) จากสมาชิกพรรครีพับลิกันในรัฐสภาสหรัฐมากขึ้น โดยที่โซรอสนั้นถูกกล่าวหาจากรัฐบาลฮังการีออกมาประกาศว่าเตรียมที่จะกวาดล้างกลุ่มเอ็นจีโอที่ได้รับเงินสนับสนุนจากโซรอส เหล่านี้ให้หมดไป
โดยก่อนหน้านี้ ซิลลาร์ด นีเมธ รองประธานพรรค Fidesz ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลฮังการี ระบุว่ากลุ่มเอ็นจีโอที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากโซรอสเข้ามาดำเนินการเรื่องการเงิน รวมทั้งให้การสนับสนุนทางการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อจะแก้ไขปัญหาการเมืองระดับชาติ
การสนับสนุนทางการเงินของโซรอสนั้นผ่านกองทุนที่เรียกว่า Open Society Foundations ได้ตั้งขึ้นมาในช่วง 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นสถาบันที่ขึ้นตรงต่อโซรอส ทั้งนี้มีรายงานว่า รัฐสภาฮังการีเตรียมผลักดันร่างกฎหมายที่รับรองให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปตรวจสอบการเคลื่อนไหวทางการเงินในการดำเนินการของกลุ่มเอ็นจีโอที่ได้รับเงินสนับสนุนจากโซรอสที่ผ่านมาทาง Open Society Foundations แห่งกรุงบูดาเปสต์
นอกจากนี้ สมาชิกในวุฒิสภาสหรัฐจากยูทาห์ระบุว่า เงินให้การช่วยเหลือของ USAID ยังได้เลือกให้การสนับสนุนกับ Open Society Foundations ที่จะเขาไปดำเนินโครงการสำคัญหลักๆ ใน Macedonia อีกด้วย โดยที่ USAID มีการใช้เงินถึง 5 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2012-2016
2.รายงาน Fed Minutes การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FOMC เดือนมกราคมที่ผ่านมา ชี้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่สัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมนี้ยังคงต่ำกว่า 40% ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นในเดือนมิถุนายนมีน้ำหนักมากกว่า 78%
อย่างไรก็ตาม สมาชิกของเฟดย้ำเตือนภาวะตลาดหุ้นอย่าคาดหวังสูงเกินไป ว่าจะได้รับผลเชิงบวกจนทำให้มีการปรับตัวที่สูงขึ้นของราคาหุ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ อาจจะไม่ส่งผลตามที่ตลาดคาดหวังมากนัก
3.สำหรับความเป็นไปได้ที่เฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมอีก 7 ครั้งที่เหลือปีนี้ ตามรายงานใน Fed Minutes ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธสะท้อนถึงน้ำหนักในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 38% เดือนพฤษภาคมมีน้ำหนักที่ 60% โดยที่ความเห็นส่วนใหญ่กว่า 78% ที่เชื่อว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนเป็นครั้งแรกในปีนี้ หลังจากที่ประกาศไว้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2017
โดยที่น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ นับจากเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยในเดือนกรกฎาคมมีน้ำหนักที่ 82% เดือนกันยายนที่ 89% เดือนพฤศจิกายนที่ 90% และเดือนธันวาคมที่ 96%
4.ขณะที่แบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริลลินช์ (BofAML) ชี้มีสัญญาณขายหุ้นของลูกค้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2016 ซึ่งตลาดหุ้น S&P 500 ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นถึง 10% แต่หลังจากการประเมินล่าสุดพบว่า ผลกำไรต่อหุ้นจะมีสัดส่วนลดลง 1% สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2017 นี้ ถึงแม้ว่านโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศลดภาษีจาก 35% ไปเป็น 20% น่าจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานในปี 2018 มากกว่า
โดยสัญญาณการขายสุทธิดังกล่าวเป็นวงเงิน 2.1 พันล้านดอลลาร์ซึ่งนับเป็นวงเงินก้อนโตมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว
5.Steven Mnuchin รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ยังเชื่อมั่นว่าทิศทางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะยังคงเป็นผลต่อสหรัฐ เนื่องจากเป็นสะท้อนมาจากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเฉพาะในช่วงที่ทรัมป์เข้ามาบริหารประเทศในช่วง 4 ปีนับจากนี้ไป
ถึงแม้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นถึง 23% โดยมีปัจจัยของนโยบายทรัมป์เข้ามามีส่วนสนับสนุนด้วยนั้น จะส่งผลต่อการส่งออกของของสหรัฐที่ตกต่ำลงก็ตาม รวมทั้งกระทบต่อรายได้ของภาคธุรกิจ แต่ Mnuchin ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังได้รับผลดีในระยะยาว โดยที่ในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบด้านลบบ้างก็ตาม
แต่จากนโยบายของทรัมป์ที่พุ่งเป้ากดดันประเทศคู่ค้าที่พยายามจะลดค่าเงินเพื่อความได้เปรียบทางการค้า เพื่อจะทำให้สหรัฐกลับมาเป็นประเทศที่แข็งแกร่งทางการค้าอีกครั้งหนึ่ง โดยที่สหรัฐต้องการให้เกิดการเจรจาทางการค้าแบบทวิภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้กล่าวหา 3 ประเทศหลักคือจีน ญี่ปุ่น และเยอรมัน ที่อาศัยค่าเงินอ่อนชิงความได้เปรียบการการค้าจากสหรัฐในขณะนี้