ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทยและรัฐบาลไทยที่ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เข้าร่วมประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 9 และ EMDCD หรือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries Dialogue) ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ณ เมืองเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน
เพราะในขณะที่ผู้นำไทยถูกปฎิเสธจากฝั่งมหาอำนาจประชาธิปไตยตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ด้วยเหตุผลว่าเป็นรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจ นอกจากไม่เชิญร่วมขึ้นเวทีใหญ่แล้วยังหาเรื่องสารพัด ทั้งค้ามนุษย์ ประมง การบินฯลฯ แต่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมประชุมระหว่างผู้นำกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยไทยไปในฐานะ 1 ใน 5 ประเทศที่เป็น “แขกพิเศษ” ของจีนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีน
กลุ่มแขกพิเศษของจีนนอกจากไทยซึ่งเป็นตัวแทนภูมิภาคอาเซียนแล้วยังมี เม็กซิโก ในฐานะตัวแทนภูมิภาคลาตินอเมริกา อียิปต์ ในฐานะตัวแทนภูมิภาคตะวันออกกลาง ทาจิกิสถาน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของจีน และกินี ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา
เท่ากับเป็นการลบข้อสงสัยว่าทำไมก่อนหน้านี้ในการประชุม “ข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21” ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2560 จึงตกชื่อผู้นำรัฐบาลไทยในขณะที่ผู้นำของ 7 ชาติในอาเซียนได้ร่วมประชุมและทำข้อตกลงกับจีน จนดูเหมือนไทยตกขบวนเส้นทางสายไหมไปแล้วอันเนื่องมาจากความไม่คืบหน้าในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่เจรจากันยาวนานข้ามปีแต่ไม่ได้ข้อยุติเสียที
เหมือนเป็นที่รู้กันว่าก่อนถึงวันประชุม BRICS ฝ่ายไทยต้องเร่งทำการบ้านโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนให้จบ กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงประชุมกันแบบหามรุ่งหามค่ำ จนได้ข้อสรุปของโครงการเฟสแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งนำมาสู่การลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน จำนวน 4 ฉบับเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 ประกอบด้วย
รถไฟฟ้าความเร็วสูง…
ฉบับที่ 1 สัญญาการออกแบบโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะที่ 1
ฉบับที่ 2 สัญญาที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะที่ 1
ฉบับที่ 3 ร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน (พ.ศ. 2560-2564)
ฉบับที่ 4 ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21
เป็นอันว่าไทยประกาศจุดยืนชัดเจนในการร่วมเกาะขบวนเส้นทางสายไหมของจีน และจากนี้ไปโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะต้องเดินหน้าให้สำเร็จโดยไทยเป็นฝ่ายลงทุน จีนเป็นฝ่ายสนับสนุน แม้จะช้าหน่อยตามกำลังทุนทรัพย์ เริ่มจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วค่อยต่อจากนครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย
ส่วนการร่วมประชุมกับกลุ่ม BRICS ซึ่งเดิมถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ระเบียบโลกทางเลือกนอกกระแสหลัก” แต่วันนี้เมื่อจีนออกหน้าเอาเรื่องเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 มาผูกจึงกลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่จะมีอิทธิพลมากขึ้น เพราะขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS คิดเป็น 27% ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 42% ของประชากรโลก ขณะที่วันนี้มีความร่วมมือสำคัญที่เป็นรูปธรรม คือการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่( New Development Bank : NDB) เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาสำหรับประเทศสมาชิก รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในเวที BRICS ว่าหากพิจารณาศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS และEMDC รวม 10 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกว่า 46% ของประชากรโลก สัดส่วน GDP รวมกว่า 30% ของโลก และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกว่า 46% ของโลก เราอยู่ในฐานะที่จะร่วมกันสร้างโลกที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และมีพื้นที่สำหรับทุกคนที่จะเติบโตด้วยกันได้ เราสามารถสร้าง “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันได้
เหมือนอยากจะบอกยุโรปและอเมริกาว่า อย่ากดดันไทยให้มากนะ