ยังคงเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย ถึงแม้จะได้ประสบด้วยตัวของเราเอง แต่ก็สามารถได้เห็นและได้ยินเรื่องราว “การเสด็จสำเพ็งของในหลวงร.8” ได้เป็นอย่างดี เพราะจากการตัดสินพระทัยของร.8 ครั้งนั้น จึงส่งผลให้ไทยจีนมีสัมพันธ์อันดีมาจนถึงบัดนี้
วันนี้ขอนำเสนอ ภาพในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งทางเพจห้องวิจัยประวัติศาสตร์ ได้เผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ให้เราได้ชื่นชมพระบารมี
ในวันที่ 3 มิถุนายน 2489 อันเป็นวันเสด็จพระราชดำเนิน ประชาชนชาวจีนในสำเพ็งต่างพากันปิติยินดี และร่วมกันตบแต่งบ้านเรือนด้วยธงทิวและแพรพรรณ ตั้งโต๊ะบูชาด้วยเครื่องลายครามและเครื่องแก้วเจียระไน สร้างซุ้มประตูรับเสด็จด้วยดอกไม้สดประดับประดาเป็นรูปมังกรขนาดใหญ่ ตั้งแต่ปากตรอกสะพานหัน และสองฟากของสำเพ็ง มีพสกนิกรชาวจีนมาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น บางครั้งได้เสด็จไปประทับในบ้านและร้านรวงที่กราบบังคมทูลเชิญ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด โดยไม่ทรงถือพระองค์ รวมเป็นเวลาที่ประพาสสำเพ็งประมาณครึ่งวัน
ต่อจากนั้นได้เสด็จไปเสวยพระกระยาหารกลางวันที่สมาคมไทย-จีน ถนนสาทร และทอดพระเนตรกีฬากับการละเล่นต่าง ๆ ก่อนเสด็จกลับ ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน บรรดาพ่อค้าชาวจีนได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของมีค่า เช่น เครื่องกระเบื้อง และสิ่งของที่ทำด้วยหยก รวมทั้งถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล รวม 13,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากในสมัยนั้น ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวได้ทรงตั้งเป็น “ทุนพ่อค้าหลวง”และพระราชทานแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อให้เก็บดอกผล สำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ยากไร้
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินจนสุดย่านสำเพ็งแล้ว ได้เสด็จเยือนสถานที่สำคัญในย่านใกล้เคียง ได้แก่โรงพยาบาลเทียนอัน สมาคมพาณิชย์จีน ที่สาทร ทรงเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ทางสมาคมจัดถวาย แล้วเสด็จเยี่ยมมูลนิธิปอเต็กตึ้ง และโรงพยาบาลหัวเฉียว ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ในช่วงเย็นวันดังกล่าว
รัชกาลที่ 8 ทรงโปรดการเสด็จประพาสสำเพ็งมาก ทรงเล่าถึงชาวจีนคนหนึ่งซึ่งเข้าเฝ้าว่า “ฉันกำลังเดินเพลินๆ อยู่พอก้าวขาออกไป ก็มีจีนคนหนึ่งวิ่งเข้ามาตรงเท้า ฉันตกใจเหลียวมาดู เห็นเขากอบเอาขี้ฝุ่นตรงที่ฉันเหยียบมาใหม่ ๆ ใส่มือแล้วเอาใส่ห่อผ้าเช็ดหน้าไว้ ถามดูได้ความว่าจะเอาไปบูชา”
การเสด็จประพาสสำเพ็ง ของในหลวงทั้งสองพระองค์ เมื่อ 71 ปีที่แล้ว นับเป็นการสมานรอยร้าวของพี่น้องจีน-ไทยในครั้งนั้นให้คืนสู่ปกติอย่างน่าอัศจรรย์ และพี่น้องทั้งสองสายเลือดก็ได้ร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้ามาตราบเท่าทุกวันนี้
ที่มา : ที่มาและรูปภาพ : Facebook พิชาญ พงษ์พิทักษ์ และ ห้องวิจัยประวัติศาสตร์