วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

นายกรัฐมนตรีเตรียมน้อมถวายพระราชสมัญญานาม สมเด็จพระภัทรมหาราช รัชกาลที่ 9

นายกรัฐมนตรีพิจารณาเทิดพระเกียรติพระราชสมัญญานามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า “สมเด็จพระภัทรมหาราช” หมายความว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง”

วันที่ 31 ตุลาคม 2560 เมื่อเวลา 11.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการพิจารณาวาระการเทิดพระเกียรติพระราชสมัญญานามว่า “มหาราช” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ

ทั้งนี้ สำหรับการเทิดพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้นได้มีการพิจารณาถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระภัทรมหาราช” หมายความว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง”

สำหรับการเทิดพระเกียรติพระราชสมัญญานามถวายพระมหากษัตริย์ไทย ในหนังสือสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน ได้ระบุไว้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยที่ประชาชนถวายพระราชสมัญญานามว่า”มหาราช”นั้น เนื่องจากทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันยังประโยชน์อเนกอนันต์แก่ชาติไทย ทรงกอบกู้อิสรภาพ ทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรมให้ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าด้วยพระมหาปัญญาธิคุณและพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยให้วัฒนาถาวร โดยพระมหากษัตริย์ไทยที่ประชาชนเทิดพระเกียรติด้วยพระราชสมัญญานาม”มหาราช”ดังนี้

1. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

2. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

3. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

4. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

6. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ระบุว่า “ที่ผ่านมา รัฐบาลก่อนๆได้เคยทูลเกล้าฯไปแล้ว แต่พระองค์ท่านยังไม่ทรงเห็นชอบ ทรงมีรับสั่งให้เป็นเรื่องของประชาชนและรัฐบาลที่จะทำต่อไป”บัดนี้ จึงเป็นวโรกาสอันเหมาะสมยิ่ง ที่รัฐบาลจะร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า น้อมเกล้าฯ ถวายพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงเป็น “พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” น้อมเกล้าฯ ถวายพระนาม “สมเด็จพระภัทรมหาราช”