วันศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

บันทึก“สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น”เล่าถึงความขมขื่นของเจ้าในเหตุการณ์สำคัญช่วงเปลี่ยนแปลง ปี2475

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ทรงมีความสามารถในด้านประวัติศาสตร์มาก

หนึ่งในผลงานสำคัญคือ บันทึก “สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น”เล่าถึงเบื้องลึกในเหตุการณ์สำคัญช่วงเปลี่ยนแปลง ปี2475 จนถึงช่วงการก่อกบฎของพระองค์เจ้าบวรเดช ผ่านสายตาของพระองค์ซึ่ง นิพนธ์ เอาไว้ตั้งแต่ปี2486 ด้วยพิมพ์ดีด แยกเป็นบทๆ แล้วมาพิมพ์รวมเล่มทีหลัง
——————-
ข้าพเจ้า “ ป.สามสี “ ได้มีโอกาส ได้หนังสือบันทึก “สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น”ฉบับตีพิมพ์ใหม่ ของหนึ่งในลูกหลาน สกุล “จารุจินดา” จึงขอ นำมาเผยแพร่ตามเป้าประสงค์ของเจ้าของหนังสือ เพื่อล้างมลทินให้แผ่นดินสยาม

“รักเกียรติจารุจินดา อย่าพากลั้ว มั่วมลทิน
รักชาติและแดนดิน อย่าฝืนบท ข้อกฎหมาย
รักบุญ จงหลีกบาป อย่าหยามหยาบ รักษากาย
รักสุข หวังสบาย อย่าลืมสร้างกุศลทาน”
——————-

ข้าพเจ้าขอนำข้อความบางส่วนมาเล่าอย่างสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจบริบทอื่นๆ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งไม่ได้สวยหรูอย่างที่คณะราษฎร ชี้นำเอาไว้มาก

ช่วงหน้า 108 ของ ฉบับ รวมเล่ม มีการพูดถึงช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ เพราะ พวกข้าราชการที่เข้าร่วมกับการก่อกบฎ 2475 ครั้งนี้ต่างดีใจมากที่ทำสำเร็จ จึงมีการพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าตนเองเข้าร่วมกับการก่อเหตุเอาไว้ว่า

“เมื่อพวกก่อการเรียกทหารมารวมที่ในลานพระบรมรูปทรงม้าว่า-จะซ้อมรบย่อย-ในเวลาเช้ามืด ๔ น. แล้ว, พระยาพหลฯ ก็ยืนอ่านความประสงค์ให้แถวทหารฟัง, จบแล้วนายทหารผู้ร่วมคิดก็เอาปืนพกออกชี้ถามพวกนายเป็นคน ๆ ไปว่าจะเข้าด้วยหรือไม่? ทุกคนหมดท่าก็ยกมือยอม “

นับว่าโชคยังดี ..! ในหนังสือยังระบุอีก ว่า

“มีนายร้อยตรีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์คนหนึ่ง, ชื่อพุฒ พยายามถอยหลังเข้าไปในสนามเสือป่า, ในเวลาที่กำลังยุ่งตรวจและขนของกันอยู่
แล้วค่อย ๆ คลานไปลงสระน้ำว่ายข้ามไปขึ้นอีกทาง หนึ่ง, จึงออกถนนได้แล้วรีบไปยังกรมทหารของตน, และรายงานเหตุการณ์นั้นแก่ผู้บังคับการ คือ
พระยาสุรเดชฯ (ชิต ยุวนะเตมีย์) นักเรียนเยอรมันเพื่อนพระยาพหลฯ เผอิญเวลาที่ร้อยตรีพุฒเดินไปถึงกรมเป็นเวลาที่เขาจับเอาทูลกระหม่อม บริพัตรฯ ไปเสียแล้ว, พระยาสุรเดชฯ จึงไม่รู้จะทำอย่างไรนอกจากรวม กำลังคุมเชิงอยู่
ครั้นพอเขาจับคนสำคัญอื่น ๆ แล้ว, เขาก็เรียกตัวพระยาสุรเดชฯไป, และพระยาพหลฯ เองมาอธิบายและเกลี้ยกล่อมพระยาสุรเดชฯ, แกก็ถอดหมวกทหารออกฟาดและตอบว่า” อ้ายพจน์, กูเป็นทหารของพระจุลจอมเกล้าฯ กูไม่เสียสาบาล! ตั้งแต่เป็นเพื่อนกับมึงมาจากโรงเรียนนายร้อย, กูเพิ่งเห็นวันนี้เองว่ามึงมี… !!!!!”

================

ในหน้า ที่ 112 – 113 ของฉบับที่พิมพ์ใหม่ ระบุว่า

“วันหนึ่งหญิงเหลือบ่นกับท่านขึ้นว่า “ซื้อ, รัฐธรรมนูญนี้, น่ากลัวจะ
แบนมากกว่านูน!” (นูนสะกดอย่างนี้ แปลว่า สูง) กรมเทววงศ์ฯ ท่านกลับ
เอ็ดเอาว่า “เธออย่าพูดอย่างนี้กับในหลวงท่านนะ ท่านกำลังเชื่อแน่อยู่ว่าจะ
สำเร็จได้, ถึงกับชวนฉันแน่ะว่าให้ช่วยเขาหน่อย!” หญิงเหลือก็ทูลว่า “ก็ดูไปก็แล้วกัน”

(*** ขออธิบายเพิ่มเติม **** เรื่องส่วนนี้แสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่๗ ทรงมีดำริแน่วแน่ที่จะมีรัฐธรรมนูญตั้งแต่ก่อน ปฎิวัติ2475 แต่คนรอบข้างกลับไม่สบายใจ เมื่อมีรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นจริง)

พระยามโนฯ เองก็เล่าให้เราฟังที่ปินังว่า “ในหลวงท่านเป็นคนซื่อจริง ๆ นะหม่อม, กระหม่อมเคยทดลองท่านมาแล้ว แต่เจ้าพวกเด็กๆมันโกรธเสียแล้วมันก็เห็นเป็นผิดไปหมด. ไม่ว่าเรื่องอะไร, พอเราบอกว่า
ในหลวงท่านเห็นว่าอย่างนั้น ๆ มันก็ตั้งต้นเห็นให้ตรงกันข้ามเสียทีเดียว
แทบทุกเรื่อง!”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องลงรอยพอออกเดินทางกันได้แล้วก็เกิดมีหนังสือพิมพ์ออกใหม่กันจนนับไม่ถ้วน. ใครอยากพูด, อยากด่า, อยากชักชวน, อย่างไรก็ไปหาหนังสือพิมพ์, ฉะนั้นในไม่ช้าเราก็ได้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าพวกก่อการเองก็มีความเห็นไม่ตรงกันทั้งหมด

ในเวลานั้นเริ่มมีคนงานรวมกันหยุดงานอย่างยุโรปชุมขึ้น และผู้ที่แก้การ strike เก่งคือ Mr.J. Knudtzon ผู้จัดการบริษัทรถรางไทย และในเวลา ๒-๓ ปีต่อมาการ-หยุดงานก็กลับซาไปเอง. เมื่อความเห็นต่าง ๆ มี
มากขึ้นด้วยฤทธิ์เสรีภาพแล้ว, ความเห็นนั้น ๆ ก็นำให้แยกทางกันไปเป็นพวก ๆ จึงเกิดแยกกันเป็นคณะ ๆ ยิ่งขึ้นทุกวัน, แล้วต่างพวกก็ต่างสืบกันจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

เมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราวในวันที่ ๒๗ มิถุนายน และทรงช่วยชี้แจงเหตุการณ์อยู่จนถึงเดือนตุลาคมแล้ว, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออกไปประทับยังพระราชวังไกลกังวลหัวหิน

เราอยู่ที่นั่นกันก่อนแล้ว ๔ เดือน, ถึงวันเสด็จจึงไปรับเสด็จที่สถานีหัวหินพร้อมกับคนทั้งหลายเต็มสถานี. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจาก รถไฟแล้วทรงแวะทักทายตั้งแต่พระสงฆ์ไปจนถึงราษฎรสามัญอย่างทั่วถึง

ดวงหน้าของคนในที่นั้นมีน้ำตาเต็มอยู่ในดวงตาเกือบไม่เว้นตัว, เขามองดูในหลวงของเขาด้วยความรักและสงสารจากใจจริง ๆ

แต่นั้นมา, พวกรัฐบาลก็ลงไปเฝ้าเรียนพระราชปฏิบัติกันอาทิตย์ละครั้ง มีพระยามโนฯ พระยาศรีวิสารฯ และนายประยูร ภมรมนตรี เป็นประจำ แต่บางครั้งพระยาพหลฯ ก็ออกไปเองกับหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาพิเศษ.

พระยาพหลฯ เคยกราบทูลในหลวงว่าแม้จะพระราชทานรัฐธรรมนูญเอง, ก็ต้องมีการยึดอำนาจ, เพราะพวกตัวรู้ดีว่าถ้าพระราชทาน ก็ไม่ทรงเลือกพวกของตัว. แม้พระยาทรงสุรเดชผู้ไม่ยอมขอโทษ ก็ออกไปเฝ้าครั้งหนึ่งกับพระยามโนฯ และกลับพอใจที่ได้รู้จักกับในหลวงจริง ๆ ใครอยากเฝ้าเมื่อใดก็กราบทูลขอเฝ้าได้. แต่พวกก่อการเองยังแก่งแย่งกันอยู่ พวกที่ได้เฝ้ารู้จักแล้วกลับมาคุยว่า “ในหลวงท่านก็คนที่รู้จักเหตุผลอย่างเรา ๆ นี่เอง!” แต่พวกที่ไม่ยอมเฝ้าก็ติเตียนว่า “พอมัน
แตะโต๊ะเสวยเข้าหน่อย มันก็กลายเป็นพวกเจ้าไปหมด!”

ในไม่ช้าก็กลายเป็นเกิดกักขึ้น ๓ ก๊ก คือ
๑. พวกเกลียดเจ้าด้วยประการทั้งปวง
๒. พวกรักเจ้า, มีข้าราชการเก่า ๆ และราษฎรในหัวเมืองเป็นพื้น

๓. พวกเป็นกลาง ๆ, คือไม่ชอบเจ้าแต่เห็นว่ายังเป็นประโยชน์อยู่
มีพวกทหารและข้าราชการที่เห็นด้วยกับพวกเปลี่ยนแปลงโดยมาก

พวกหลัง ๒ พวก, พอมีทางจะเข้าพึ่งพิงกันได้ แต่ก็เป็นเหตุให้พวกแรกคิดการรุนแรงขึ้นทุกที. ลงท้ายเขาก็ต่างคนต่างหาพวกและคิดสู้กันเอง จนมีนักสืบ (spy) และนักสืบพิฆาฏ (training murderer) เกิดขึ้นชุกชุมในที่ทุกแห่ง เช่นเรื่องพระยาเสนาสงคราม คณะชาติถูกลอบยิงอีก เป็นต้น

ในที่สุดพวกเจ้าก็ต้องนั่งคอยเป็นสัตว์ที่จะรับบาปนั้นทุกวันคืน!

————————————————

ในหน้า ที่ 117 – 119 ของฉบับที่พิมพ์ใหม่ ระบุว่า

วันหนึ่งได้ข่าวว่ารัฐบาลได้ซื้อปืน ป.ต.อ.มาใหม่ ๆ จะให้นำมาลอง
ยิงถวายทอดพระเนตรที่เกาะหลัก, แต่เห็นว่าที่ประทับไม่ดีพอ จึงจะจัด
เรือพระที่นั่งจักรีมารับเสด็จจากหัวหินและถวายให้เป็นที่ประทับในเวลา
เสด็จไปเกาะหลักคราวนี้ด้วย

พอใกล้เวลาเสด็จได้สัก ๒-๓ วัน, บ่าวเราคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นนาย
สิบทั้งตำรวจและทหารมาแล้ว, วิ่งมาหาข้าพเจ้าหน้าตาตื่นเต้นวิงวอนว่า
“ฝ่าพระบาทช่วยกราบทูลอย่าให้เสด็จได้หรือไม่? เกล้ากระหม่อมไปกิน
เหล้ากับอ้ายพวกนี้มันมา, ได้ความว่ามันจะล่อเอาท่านไปทำร้ายในเรือพระที่
นั่ง!”

ข้าพเจ้าหัวเราะพูดว่า “ก็แกกินเหล้า, มันก็สนุกใหญ่ละซี.” เขาสั่น
หน้าว่า “ไม่ใช่กระหม่อม, กระหม่อมยังไม่เมา, พอเข้าไปพบมัน ๆ
มั่น ๆ อยู่แล้ว กระหม่อมก็เลยทำเมาคุยกับมัน. มันบอกทีเดียวว่า-ให้
คอยดูการเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ และพอให้มันดื่มหนักขึ้น
หน่อยมันก็ชวนให้เข้าพวกและเลยคุยอวดว่ามันจะทำปืนลั่นในเวลาขัด,
เป็นเหตุบังเอิญ. จริง ๆ กระหม่อม, ขอให้ทรงเชื่อเถิด!”

ข้าพเจ้าขอบใจที่เขามาบอก และตอบว่า “ฉันจะทูลได้อย่างไร? และ
ท่านจะเชื่อหรือ?” เขาก็นิ่ง, พอถึงเวลาข้าพเจ้าจะไปรับหนังสือพิมพ์ที่สถานี
รถไฟกับหญิงเหลือ, ข้าพเจ้าก็เลยตรงไปหาพี่วิบูลย์ฯ ที่บ้านท่านก่อน
และเล่าให้ฟังว่าได้ยินมาอย่างไร เพราะพระยามโนฯ มอบโปลิศลับในหัว
หินไว้ให้ขึ้นตรงต่อท่านวิบูลย์ฯ. ท่านตอบขอบใจที่เราไปส่งข่าวและบอก
แต่เพียงว่า-คอยดูไปก่อน

ครั้นรุ่งขึ้นจะถึงวันกำหนดเสด็จ จึงได้ข่าวว่าในหลวงไม่ทรงสบาย
เสด็จไม่ได้ พวกรัฐบาลจึงสั่งให้พวกทหารเมืองเพชรบุรีลงไปดูเท่านั้น ต่อ
อีก ๒-๓ วัน ข้าพเจ้าพบพี่วิบูลย์ฯ ท่านจึงหัวเราะด้วยและบอกว่า “ฉัน
รู้ก่อนเธอไปบอกแล้ว!”

ในเดือนธันวาคมที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ตามทางราชการ. เขาจึงมีงานใหญ่อย่างมโหฬารของเขา และเมื่อ
งานแล้วเขาก็คุยกันว่า-ในหลวงทรงเป็นพระราชทานด้วยพระหัตถ์สั่น และ
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เองก็หน้าซีดเสียดายอำนาจ! แท้จริง ทั้งสอง
พระองค์ก็รู้แล้วว่าเป็นเหตุที่จะพาบ้านเมืองไปสู่ความ…มากกว่าจะดี
ไม่มีทางจะแก้ไขได้ในเวลาที่คนส่วนมากต้องการเช่นนั้น

เจ้าพระยาวรพงศ์ฯ ได้เล่าให้เราฟังว่า

“ในหลวงท่านทรงสั่งว่าให้ยกพระแท่นมนังคศิลาซึ่งเป็นของพระ
ร่วงเจ้าไปเสียในวังหลวง, อย่าให้ท่านประทับและพระสังวาลย์
ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ก็อย่าหยิบมาให้ท่านทรงในวันนั้น
เพราะพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์นี้ท่านได้กู้บ้านเมืองมา. ฉันเป็นผู้ที่จะพาไป…
จึงไม่สมควรจะนั่งและใส่ของ ๆ ท่าน”)

และในวันพระราชทานธรรมนูญนั้น, ก็ประทับบนพระแท่นองค์ที่จำลองไว้จริง ๆ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรำพันอยู่เสมอว่า “ฉันกลัวตายไปเจอะปู่ย่า
ตายายเข้าจริงๆ ท่านคงจะกริ้วว่ารับของท่านไว้ไม่อยู่เป็นแน่!”

ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในหลวงกำหนดจะเสด็จเข้ามาทำงานฉัตรมงคล
ประจำปีในวันที่ ๑๙. เราก็จะเข้ามาก่อนวันงานวันหนึ่ง. ต่างคนต่างเตรียม
จะกลับ, แต่พอถึงวันที่ ๑๗ ก็มีข่าวซุบซิบกันว่า-ไม่เสด็จกลับ. จึงได้เริ่ม
รู้กันว่า- หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง) ซึ่งในเวลานั้นตั้งตัวเป็นหัวหน้า
“คณะชาติ” และมีคนเข้าด้วยเป็นอันมาก, ส่งคนมากราบทูลว่าอย่าให้
เสด็จกลับเข้าไปในกรุงเทพฯ, เพราะพวกทหารมีพระยาทรงสุรเดชเป็นหัว
หน้าจะคอยดักยึดรถไฟพระที่นั่งไว้ที่บางซื่อ (อันเป็นแดนทหารอยู่) แล้ว
จะบังคับให้ทรงเซ็นลาออกอย่างพระเจ้าซาร์, เพื่อจะเป็นริปับลิก. แต่ถ้า
ไม่ยอมทรงเซ็นก็จะจับเอาพระองค์ไว้ให้เจ้านายในพระราชวงศ์นำทรัพย์
สมบัติมาถ่ายพระชนม์ชีพพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อในหลวงทรงทราบเช่นนี้แล้ว ก็ตรัสบอกแก่พระยามโนฯว่าต้อง
ทรงเชื่อเพราะพระยาทรงสุรเดชยังไม่ยอมมาเฝ้าพระองค์ท่านอยู่คนเดียวเท่านั้น,
และพระยาทรงฯ เป็นหัวหน้าที่เข้มแข็ง, พวกทหารเชื่อฟังจริง ๆเสียด้วย
เหตุนี้ที่ทำให้พระยามโนฯต้องกลับมาอธิบายและพาพระยาทรงสุรเดชออกไปเฝ้ารับรองกับพระองค์ในหลวงว่าจะไม่มีเหตุเช่นนั้นขึ้นได้

ถึงงานพระเมรุเจ้านายในเดือนมีนาคม, สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึง
เสด็จกลับเข้ามา. พระยาทรงฯ ก็ตรวจตราดูแลการรักษาพระองค์กวดขัน
ขึ้นจริง ๆ ทำให้เบาใจกันไปว่าพวก extremists ยังไม่ได้ทหารไปเป็นพวก
ทั้งหมดโดยฉะเพาะพระยาทรงฯ. ไม่ช้าก็มีเสียงติเตียนว่าในหลวงขี้ขลาด,
จะเสด็จไหนก็พกเอาปืนเล็กไปด้วยติดพระองค์, พวกเจ้าบางคนหัวเราะ
เยาะว่าปืนเล็กเท่านั้นจะไปทำอะไรใครได้

แต่ข้าพเจ้าได้ยินว่าในหลวงตรัสว่า

“ปืนนี้มีอยู่สองลูก. ลูกหนึ่งสำหรับหัวหญิง (สมเด็จพระราชินี)
ก่อนหนึ่งลูก, แล้วฉันเองหนึ่งลูกเป็นเสร็จ เพราะถ้าจะจับฉันบังคับให้
เป็นอะไรที่หลอกลวงราษฎรแล้ว-เป็นยิงตัวตาย!”

จริงอยู่, ในหลวงไม่ทรงแข็งแรงและเมื่อถูก threaten to life (ข่มขู่จะเอาชีวิต) อยู่
บ่อย ๆ ก็ทำให้ nervous(วิตกกังวล) ได้จนถึงถูกเรียกว่า-ขี้ขลาด, ขี้คร้าน, ขี้เกียจ
รวมความว่าไม่มี fighting spirit เสียเลย. แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าที่ในหลวง
ทรงอ่อนแอเช่นนี้, เป็นเพราะไม่มีอนามัยดีพออย่างหนึ่ง และไม่มีคน
แข็งอยู่ด้วยพออย่างหนึ่ง, ไม่ใช่เพราะมีพระนิสัยเป็นคนขลาด, ทั้งรู้
พระองค์อยู่ดีด้วยว่าความรู้ความชำนาญของพระองค์ไม่มีพอกับความ
รักชาติของพระองค์ จึงทำให้ลังเลเด็ดขาดไม่ได้, ด้วยเกรงผิดอยู่เสมอ
ถ้าเป็นเวลาบ้านเมืองสงบสุขก็ไม่เป็นไร, แต่เผอิญมีเหตุการณ์ที่บ้าน
เมืองต้องการ strong King พระองค์จึงต้องถูกติเตียนไปต่าง ๆ ตาม
ความเห็นของคนส่วนมากว่า-ควรจะเช่นนั้นเช่นนี้