สวัสดีครับ กระทู้นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อแบ่งปันเรื่องราวที่ตัวเองสนใจ ตอนนี้ละครเรื่องรากนครา ดำเนินเรื่องมาจนใกล้จะอวสานแล้ว เรื่องราวช่วงนี้ก็คงจะเน้นการเมืองกันมากขึ้น
อย่างที่ทราบกันดีว่าบทประพันธ์เรื่องนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์ในยุคล่าอาณานิคม ทั้งเมืองและตัวละคร ผู้ประพันธ์สมมติขึ้นมา แต่ก็มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง
คิดอยู่นานมากว่าจะตั้งกระทู้นี้ดีมั้ย เพราะกลัวผู้อ่านจะเอาไปเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์จริงๆ แต่คิดไปคิดมา ก็ตั้งดีกว่าเพราะเมื่อมองในรายละเอียดแม้ภาพรวมจะคล้ายประวัติศาสตร์ แต่ก็มีบางส่วนที่ผู้ประพันธ์ใส่จินตนาการลงไปเพื่อความสนุกสนาน และเพื่อสอดแทรกข้อคิดดีๆ ให้กับผู้อ่าน ผมจึงคิดว่าควรตั้ง เพราะอยากแบ่งปันความรู้ และแนวคิดทัศนคติด้านการเมืองของคนยุคนั้นในกระทู้นี้
เรามาร่วมพูดคุยกันครับ ผิดถูกประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ข้อมูลไหนผิดพลาด เข้ามาร่วมแก้ไขเพิ่มเติมกันได้ครับ
เริ่มต้น จากเมืองมัณฑ์ เชียงเงิน เชียงพระคำ อยู่ที่ไหน ผู้ประพันธ์ได้สมมติทั้งสามเมืองนี้ขึ้นมา โดยใช้ศูนย์กลางของล้านนาคือเชียงใหม่ เป็นตัวกำหนดที่ตั้งของเมือง และมีการใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สอดคล้องกับชาติพันธ์ุต่างๆที่มีอยู่จริง ซึ่งผู้ประพันธ์เคยบอกว่าตรงกับที่จินตนาการไว้มากที่สุด ผมก็จะขออนุญาตใช้เหตุผลนี้ในการอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ในแต่ละที่เลยแล้วกันครับ ทั้งนี้ขอย้ำอีกครั้งว่า ผู้เขียนไม่ตั้งใจจะเขียนเพื่อชักจูงให้ผู้อ่านเชื่อนะครับ ว่าเมืองในนิยายคือเมืองนั้นจริงๆ มันมีความแตกต่างในรายละเอียดอยู่ จะกล่าวถึงต่อไปครับ
เมืองมัณฑ์ : ใช้วัฒนธรรมของชาติพันธ์ุพม่าทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของล้านนา
เชียงเงิน : ใช้วัฒธรรมของชาติพันธ์ุไทเขินทางตอนเหนือของล้านนา
เชียงพระคำ : ใช้วัฒธรรมของชาติพันธ์ุไทลื้อทางตะวันออกเฉียงเหนือของล้านนา
*ฝากกระทู้เก่าด้วยครับ
[นาคี] เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับชาติพันธุ์เขมรถิ่นไทยและตำนานนาคในจักรวรรดิขแมร์
https://pantip.com/topic/35646925
[รากนครา] เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการแต่งกายของชาติพันธุ์ทางตอนเหนือของไทย
https://pantip.com/topic/35262904
[รากนครา] ร่วมแชร์ฉากที่มีนัยยะแอบแฝง จากเรื่องรากนครากันครับ
https://pantip.com/topic/36892078
*แผนที่ในกระทู้นี้ไม่อิงประวัติศาสตร์กระแสหลัก (ชาตินิยม) จากกระทู้คุณ สมาชิกหมายเลข 1375911
[มีคลิป] ประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้(Mainland) โดยใช้แผนที่(ไม่อิงประวัติศาสตร์กระแสหลัก(ชาตินิยม) พ.ศ.1000-2465
https://pantip.com/topic/35324564
ขอบคุณมา ณ ที่นี้ครับ
เหตุการณ์ช่วงนั้นเป็นช่วงยุคล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก ละครปูเรื่องมาว่าทั้งสยาม และเมืองมัณฑ์ต่างมีปัญหาเนื่องจากการรุกราน และกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศตะวันตก
พ.ศ. 2427 ขณะนั้น สยาม มีพื้นที่ครอบคลุม และมีประเทศราชทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงสิบสองจุไท (เวียดนาม) หลวงพระบาง ล้านช้าง จำปาศักดิ์ (ลาว) ทิศตะวันออกไปถึง พระตระบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ (กัมพูชา) ทิศใต้ไปถึง กลันตัน ตรังกระนู ไทรบุรี (มาเลเซีย)
เชียงตุง (เชียงเงิน) เป็นนครรัฐอิสระ แต่เดิมเป็นเมืองลูกหลวงของล้านนาเชียงใหม่ ความสัมพันธ์เป็นไปลักษณะเครือญาติต่อมาเชียงใหม่ได้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อสยาม แต่เชียงตุงยังคงสวามิภักดิ์ต่อมัณฑะเลย์ (เมืองมัณฑ์) พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวไทเขิน
ข้อนี้ในนิยาย เชียงเงิน เป็นเครือญาติกับล้านนา และได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม แต่มีการส่งเครื่องบรรณาการไปให้เมืองมัณฑ์อย่างลับๆ
ล้านนาตะวันออก : น่าน,แพร่ (เชียงพระคำ) เป็นนครรัฐ แยกตัวเป็นอิสระ แต่ได้สวามิภักดิ์ต่อสยามมาตั้งแต่กรุงธนบุรี โดยน่านปกครองโดยราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ แพร่ ปกครองโดยราชวงศ์เทพวงศ์ ได้แก่พระยาเทพวงศ์ ผู้เป็นเชื้อสาย เจ้าฟ้าชายสามจุฬามณีสิริเมฆภูมินทร์ แห่งนครเชียงตุง
ซึ่งตรงกับในนิยายที่ว่ามีความสัมพันธ์กันฉันเครือญาติวงศ์ กับเชียงเงิน
มัณฑะเลย์ (เมืองมัณฑ์) เริ่มถูกอังกฤษรุกราน โดยยึด ยะไข่ และหัวเมืองมอญไปได้แล้ว จากการทำสงครามครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
ล้านนา เป็นนครรัฐอิสระ มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ปกครองโดยราชวงศ์ทิพย์จักร มีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน (ขอกล่าวถึงเชียงใหม่เอาไว้ตรงนี้ด้วยแล้วกันครับ เพราะมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์)
พ.ศ. 2428 พระเจ้าธีบอส่งทูตไปฝรั่งเศสและยินยอมให้ฝรั่งเศสเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้และจัดตั้งธนาคาร ทำให้อังกฤษรู้สึกว่าเสียผลประโยชน์ ทำให้อังกฤษใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม เพื่อจะผนวกพม่าทั้งหมด เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์คองบองซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ที่ปกครองอาณาจักรอังวะมา 133 ปี มีพระมหากษัตริย์ทั้งหมด 11 รัชกาล ทำให้อาณาจักรเชียงตุง เป็นอิสระอีกครั้งยังคงลังเลว่าจะอยู่กับฝั่งอาณาจักรสยามหรือจักรวรรดิอังกฤษ
เหตุการณ์ในช่วงนี้ในนวนิยายจะเห็นได้ว่าอังกฤษยกทัพเข้าประชิดเมืองมัณฑ์เพราะจากเหตุผลที่เจ้านางปัทมสุดายอมแบ่งผลประโยชน์ให้ฝรั่งเศสนั่นเอง และเมื่ออังกฤษครองเมืองมัณฑ์ได้แล้ว ก็จะเกิดเหตุการณ์ปักปันเขตแดน ซึ่งเจ้าหลวงแสนอินทะ กับเจ้าหน่อเมืองเตรียมการที่จะประกาศอิสรภาพให้แก่เชียงเงิน
พระเจ้าธีบอ หรือ พระเจ้าสีป่อ (2421 – 2428) เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา (คองบอง) และเป็นองค์สุดท้ายของพม่า ถูกบังคับให้สละราชสมบัติและเนรเทศไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย หลังสิ้นสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 3 และ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2459
พ.ศ. 2434 เชียงตุง ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน (5 เมืองเงี้ยว และ 13 เมืองกระเหรี่ยง ได้ถูกผนวก เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษได้สำเร็จ หลังจากตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ราชสำนักเชียงตุง ก็มีเจ้าฟ้าปกครองต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2502
เหตุการณ์นี้ในนิยาย หลังจากเมืองมัณฑ์ถูกตีแตก เจ้าหลวงแสนอินทะกับหน่อเมืองเตรียมจะประกาศอิสรภาพ ว่าเป็นเมืองอิสระ ไม่ขึ้นกับเมืองไหน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง (ในสปอย) ทำให้ไม่สามารถประกาศได้ และยังต้องขึ้นตรงกับสยามเหมือนเดิม
*เพิ่มเติม สปอย
[Spoil] คลิกเพื่อซ่อนข้อความในนิยายเจ้าแสนอินทะ บอกว่าเชียงเงินวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้ขึ้นกับฝ่ายใด เพราะเหตุผลที่ว่ามีมิ่งหล้าอยู่ที่เมืองมัณฑ์ เจ้าหน่อเมืองถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาว่าจะจงรักภักดีต่อสยาม และมีแม้นเมืองอยู่ที่เชียงพระคำเพื่อให้เครือญาติวางใจ จึงจะใช้เหตุผลนี้ในการประกาศอิสรภาพ
แต่เจ้าน้อยไปเอาตัวมิ่งหล้ามาจากเมืองมัณฑ์มาอยู่ที่เชียงพระคำ และมาอยู่แทนในนามแม้นเมือง ซึ่งตอนจบจะเสียชีวิต ทำให้เหตุผลที่ว่าเชียงเงินวางตัวเป็นกลางไม่มีความหมาย และยังต้องขึ้นอยู่กับสยามต่อไปเพราะมีมิ่งหล้าที่อยู่ในนามแม้นเมืองเป็นเหตุผลที่ว่า เชียงเงินอยู่ข้างสยาม เพราะเชียงพระคำนั้นอยู่ข้างสยาม
แต่สมมติถ้ามิ่งหล้ายังมีตัวตนอยู่ที่เชียงพระคำ เจ้าน้อยจะโดนข้อหาไปชิงตัวมิ่งหล้ามาจากเมืองมัณฑ์ ทำให้มีปัญหากับอังกฤษได้ เหตุผลนี้แม้นเมืองจึงใช้ตัวเอง ปกป้องเจ้าน้อย และชดใช้ความแค้นระหว่างเจ้าน้อย กับเจ้าหน่อเมือง ด้วยการปลอมตัวออกไปให้เจ้าหน่อเมืองฆ่าตายครับ
(บทตรงนี้ จอห์น เบร็คกิ้น เป็นคนที่ทราบว่าเจ้าน้อย ลักพาตัวมิ่งหล้ามา ถ้าอังกฤษจะเอาผิดเจ้าน้อย เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการครอบครองเชียงเงินก็ได้ แต่เบร็คกิ้นไม่ทำเพราะเห็นแก่บุญคุณของเจ้าน้อย)
แต่ในละคร ปรับบทให้เจ้าหน่อเมืองส่งคนไปรับตัวมิ่งหล้ามาจากเมืองมัณฑ์ และจะให้แม้นเมืองกลับเชียงเงินด้วยกัน เพื่อจะขยี้ให้เจ้าน้อย น้อยใจเมียด้วยมั้ง และเป็นเหตุผลที่ว่าเชียงเงินไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเหมือนกัน เพราะไม่มีเจ้าหญิงอยู่ทั้งสองเมือง
เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง (2439-2478) หรือที่ชาวเชียงตุงนิยมเรียกว่า เจ้าฟ้าเฒ่า พระองค์ได้สร้างความเจริญแก่เมืองเชียงตุงเป็นอย่างมาก จนรัฐบาลอังกฤษได้ยกให้เป็น C.I.E. (Companion of the Indian Empire)
เจ้าจายหลวง ณ เชียงตุง (2490-2502) เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเชียงตุง พระองค์ได้สละพระยศเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงตามข้อตกลงของพม่า โดยพระองค์ได้ถูกคุมองค์ไปคุมขัง ณ ย่างกุ้ง เป็นเวลา 6 ปี หลังจากนั้นก็ได้ประทับอยู่ที่ย่างกุ้งจนสิ้นพระชนม์
*เพิ่มเติมอีกนิด
เชียงตุง ได้กลับมาเป็นของสยามอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2485 ในชื่อของ สหรัฐไทยเดิม จากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2
ไทยเข้ายึดเชียงตุงได้สำเร็จ แต่หลังจากอังกฤษเป็นผู้ชนะสงคราม ไทยจึงต้องคืนเชียงตุงให้กับอังกฤษไป
พ.ศ.2447 อาณาจักรสยามต้องทำสัญญาสงบศึกกับจักรวรรดิฝรั่งเศส และยอมยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในเขตนครน่าน และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ให้กับจักรวรรดิฝรั่งเศสเพื่อแลกเอาเมืองจันทบุรีคืน
พ.ศ. 2450 อาณาจักรล้านนา (เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน) ผนวกรวมกับอาณาจักรสยามโดยสมบูรณ์ ตามการรับรองดินแดนของทั้งจักรวรรดิอังกฤษ และจักรวรรดิฝรั่งเศส แต่ล้านนายังคงมีเจ้าผู้ปกครองนคร ปกครองจนถึง พ.ศ. 2482 เมื่อสิ้นสมัย เจ้าแก้วนวรัฐ จึงไม่มีการตั้งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่อีกต่อไป
เจ้าแก้วนวรัฐ (2405- 2482) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของนครเชียงใหม่
เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (2454 – 2486) เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของนครลำพูน
เจ้าแก้วเมืองพรวน (2465 – 2468) ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำปาง แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร (หมายถึงการรักษาการในตำแหน่งเจ้าหลวง) ซึ่งหลังจากยุคสมัยเจ้าแก้วเมืองพรวน แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าทางรัฐบาลสยามได้แต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ใหม่แต่อย่างใด
2461 นครรัฐน่าน รวมกับอาณาจักรสยามโดยสมบูรณ์ และมีเจ้าผู้ครองนครต่อจนถึง 2474 เพราะสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ แห่งนครน่าน และนับเป็นนครรัฐสุดท้ายที่ถูกผนวกเข้ากับสยามในยุคล่าอาณานิคม
พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (2435-2461) ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ และเป็นต้นราชสกุล ณ น่าน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว โปรดเกล้าฯให้สถาปนาเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เลื่อนพระฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น พระเจ้านครน่าน มีพระนามปรากฏตามสุพรรณบัฎว่า “พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงศาธิบดี สุริตจารีราชนุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตรสถิตย์ ณ นันทราชวงษ์” พระองค์อุสาหปกครองบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณโดยซื่อสัตย์สุจริต ได้รับราชการเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอันมากจึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนยศถานันดรศักดินาเจ้านครเมืองน่าน ขึ้นเป็นพระเจ้านครน่าน นับเป็นพระเจ้านครน่านองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน
เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (2462 – 2474) เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของนครน่าน ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามประเทศ ในปี พ.ศ. 2475
ตัวละครหลักในเรื่องทุกคนก็คือ “ราก” ไม่ว่าจะเป็นแม้นเมือง มิ่งหล้า หน่อเมือง หรือ แม้แต่ศุขวงศ์ก็ตามที ล้วนเป็นรากของบ้านเมืองด้วยวิถีทางที่แตกต่าง
ศุขวงศ์ เพื่อรักษาบ้านเมืองแล้ว ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง เก็บเกี่ยวความรู้ เข้าสู่โลกกว้าง ถึงแม้จะถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามว่าแปรพักตร์ อาจจะเจ็บปวดที่ถูกมองด้วยสายตาเคลือบแคลงสงสัย หรือ กระทั่งถูกตราหน้าว่าทรยศ หากเจ้าตัวก็รู้ที่ทำไปวันนี้ก็เพื่อดอกผลที่จะงอกงามในวันหน้า ไม่มีการเสียเลือดเนื้อเกินควร บ้านเมืองจะอยูได้ต่อไปในระยะยาว
หน่อเมือง ได้รับการสอนสั่งให้รักษาบ้านเมือง มีแนวคิดเข้มข้นสุดโต่งว่าบ้านเมืองจะต้องเป็นอิสระไม่ขึ้นกับใคร เจ้าหน่อเมืองถึงได้พยายามสุดใจให้บ้านเมืองดำรงคงอยู่แบบนั้นไม่เปลี่ยนแปลง
แม้นเมือง รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไรและยอมทำหน้าที่นั้นไป หากก็มีความข้ดแย้งในใจเมื่อเห็นโลกกว้าง เริ่มคิดว่าการเป็นรากอย่างที่ตัวเองได้รับการสั่งสอนให้เป็นจะช่วยบ้านเมืองได้จริงหรือไม่ การเป็นไม้ใหญ่ต้านลมในเวลาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ไม่มีทางใดให้เลือกเดินอีกต่อไปแล้ว
มิ่งหล้า ไม่ได้เตรียมใจมาเพื่อจะเป็นรากฐานของบ้านเมือง คือการบ้านการเมืองก็ไม่ได้อยู่ในหัว แต่ภายใต้ความไม่รู้มิ่งหล้าถูกส่งไปเป็นรากฐานของเมืองตัวเองอย่างแนบเนียน
แม้ว่าละครจะแสดงแนวคิดการปกครองที่สุดโต่ง ทำให้ต้องเสียบ้านเสียเมือง แต่ความจริงแล้วมีหลายปัจจัยมากๆ ที่ทำให้เสียบ้านเสียเมือง แม้ว่าในปัจจุบันทั้งเชียงตุง หรือน่าน จะยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน รากของแต่ละเมืองก็ยังคงอยู่ และยังมีเอกลักษณ์ในตัวของตัวเอง
แต่ความคิดเห็นส่วนตัวของผม การจะดูแลบ้านเมืองให้มั่นคง ก็คงจะไม่ได้อยู่แค่อำนาจในมือในการปกครองเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนต้องอยู่ดีมีสุขด้วย
สุดท้ายต้องชื่นชมบริษัท แอคอาร์ต มากๆครับ ที่ทำละครออกมาได้ละเมียดละไม ทำจริงศึกษาจริง
มีจุดประสงค์ที่ไม่ใช่แค่ความบันเทิงอย่างเดียว แต่คนดูจะได้ทั้งความรู้และความบันเทิงไปด้วย
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านครับ