วันพุธ 15 มกราคม 2025
  • :
  • :
Latest Update

ประวัติศาสตร์โทษประหาร – Kornkit Disthan

ส่วนตัวผมไม่สนับสนุนการฆ่า แต่ในฐานะสมาชิกในสังคมไทยผมยังต้องยอมรับว่าโทษประหารยังจำเป็น เพราะเชื่อว่าปัญหาอาชญากรรมในบ้านเรายังหนักหน่วง ทั้งในด้านปริมาณและความรุนแรง จึงควรมีโทษหนักหน่วงเอาไว้ขู่พวกคิดชั่วเอาไว้

ในสังคมที่อาชญากรรมสูง มักไม่เรียกร้องให้งดโทษประหาร แต่จะทำตรงกันข้าม เช่นในอินเดียตอนนี้เรียกร้องให้ใช้โทษประหารกันมาก เพราะเกิดฆ่าข่มขืนบ่อยครั้ง ที่แอฟริกาใต้สนับสนุนให้รื้อฟื้นโทษประหารอีกเพราะอาชญากรรมพุ่งขึ้น เช่นเดียวกับชาวบราซิลและเม็กซิโกที่เจอปัญหาบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ต่างก็เรียกร้องโทษประหาร

ขณะที่ประเทศอาชญากรรมต่ำอย่างกลุ่มสหภาพยุโรป “บังคับ” ตามธรรมนูญเลยว่าต้องยกเลิกโทษประหาร โดยชี้ว่าเป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์ และเน้นดัดนิสัยอาชญากรให้กลับคืนสู่สังคมได้

จะว่าความเจริญมันผกผันกับโทษประหารหรือเปล่า ผมก็ไม่กล้าสรุป เพราะญี่ปุ่นกับสหรัฐก็ยังคงโทษประหาร โดยเฉพาะญี่ปุ่นถ้าเคยรับโทษมาแล้วออกมาฆ่าคนอีก ต้องถูกอัยการขอโทษประหารแน่นอน แม้แต่สาธารณชนก็สนับสนุนโทษประหาร ดังนั้นจะเหมาไม่ได้ว่าเจริญแล้วไม่เอาโทษประหาร

คราวนี้เกิดคำถามว่าโทษประหารช่วยลดอาชญากรรมได้หรือ?

เรื่องนี้ผมอ่านความเห็นของฝ่ายหนุนประหารและฝ่ายต้านประหารใน ProCon.org เรื่อง Does the Death Penalty Deter Crime? ปรากฎว่าทั้ง 2 ฝ่ายยกงานวิจัยและทัศนะผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมมายืนยันเท่าๆ กัน ผมตรองดูแล้วไม่มีฝ่ายไหนเถียงชนะ เพราะฝ่ายหนุนก็มีงานวิจัยบอกว่าประหารแล้วอาชญากรรมลด ส่วนฝ่ายต้านก็มีตัวเลขยืนยันเหมือนกันว่าไม่ได้ช่วยอะไร

ดังนั้นผมขอใช้อัตวิสัยสรุปในส่วนของผมว่า ควรจะประหารต่อไป โดยเทียบไทยกับประเทศพัฒนาแล้วบางแห่ง เช่นในยุโรป ที่อัตราอาชญากรรมต่ำและความรุนแรงน้อย ประชาชนมีความรู้เรื่องหน้าที่พลเมืองสูง ผู้บังคับใช้กฎหมายซื่อตรง นักโทษได้รับการดูแลอย่างดี และซื่อสัตย์กับการรับโทษ ถึงขนาดบางแห่งปล่อยให้กลับบ้านได้ตอนกลางวัน ตอนเย็นกลับมานอนคุกต่อ

ส่วนในไทยอย่าให้ผมสาธยายเลย เพราะอีนุงตุงนังไปหมด ยกตัวอย่างการดูแลนักโทษ คุกของเรามันไม่ใช่สถานที่ดัดสันดาน แต่เหมือนเป็นที่บ่มเพาะคนชั่วให้แข็งแกร่งซะมากกว่า เมื่อออกมาแล้วยังถูกสังคมรังเกียจ หมดทางหากินเหมือนสุจริตชน ต้องกลับไปทำทุจริตเพราะถูกบีบคั้น (ที่ทำเพราะสันดานก็มี) สุดท้ายคนชั่วก็ยิ่งชั่ว จนกลับตัวไม่ได้ จึงต้องกำจัดด้วยโทษประหาร

ไม่อยากให้บ้านเรามีโทษประหาร ต้องทำให้อาชญากรรมต่ำก่อน แต่ทำอย่างไร? ทางออกมีหลายอย่าง แต่ผมขอเสนอเรื่องเดียวก่อน

ในประกาศประหาร ผมเห็นชื่อกรมราชทัณฑ์ในภาษาอังกฤษนั้นใช้คำว่า Department of Corrections เลยนึกขึ้นได้ว่า ชื่อภาษาอังกฤษมีความหมายต่างจากคำว่าชื่อภาษาไทยแบบฟ้ากับเหว คำว่าราชทัณฑ์มันเท่ากับคำว่า Punishment คือลงโทษให้เจ็บ ซึ่งเป็นแนวคิดโบราณ ขณะที่ชื่ออังกฤษของกรมคือ Corrections เป็นปรัชญาสมัยใหม่ เน้นดัดนิสัยให้เป็นคนดีในสังคมต่อไป ในสหรัฐมีผลวิจัยบ่งชี้ว่าการให้การศึกษากับนักโทษมีส่วนลดการกระทำผิดซ้ำ (Recidivism)

แต่ถามว่าสภาพของเรือนจำ การยอมรับของสังคมมันเอื้อให้คนชั่วกลับตัวงั้นหรือ? เมื่อบวกกับเงื่อนไขทางสังคม ความรู้เรื่องมนุษยธรรม และ ฯลฯ ผมจึงคิดว่าโทษประหารยังจำเป็น จนกว่าเเงื่อนไขเลห่านี้จะดีขึ้น (แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วผมก็เชื่อว่าที่คงมีโทษประหารเอาไว้สำหรับพวกที่ดัดสันดานไม่ได้ หรือแม้แต่พวก Psychopath ที่ทำผิดเพราะจิตไม่ปกติ)

ที่ญี่ปุ่น มีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมชื่อเซเคน สุงิอุระ นับถือพุทธศาสนาประกาศว่าเขาจะไม่ลงนามอนุมัติการประหารเด็ดขาด คาดว่าเพราะความเชื่อทางศาสนา และเชื่อว่าสังคมที่ศิวิไลซ์จะต้องไม่มีโทษประหาร แต่แล้วในเวลาต่อมาเขากลับบอกว่า ความเชื่อของเขาจะไม่ขัดขวางการทำหน้าที่รัฐมนตรียุติธรรม ผู้ปกป้องระบบกฎหมาย

ผมเองก็รู้สึกคล้ายๆ สุงิอุระ คือใจหนึ่งผมไม่สนับสนุนการฆ่า แต่ใจหนึ่งยอมรับว่าการฆ่าเป็นสิ่งจำเป็น นึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงพยายามที่จะเลี่ยงลงพระปรมาภิไธยอนุมัติโทษประหาร รัชกาลที่ 6 นั้นถึงกับไม่พอพระทัยเอาเลยที่เดียว แต่สุดท้ายทั้ง 2 พระองค์ก็ต้องทรงยอมให้ประหารคนร้าย คงเพราะทรงตรึกแล้วว่าจะกรุณาผิดกาลเทศะไม่ได้ หาไม่แล้วบ้านเมืองจะไม่มีขื่อไม่มีแป

การปกครองประเทศต้องมีทั้งพระเดชและพระคุณ ทรงแสดงพระคุณแล้วด้วยการแสดงพระทัยกรุณาชีวิตสัตว์ หากถึงที่สุดแล้วไม่อาจทำให้คนร้ายพ้นมลทินได้ ก็ต้องใช้พระเดชประหารตามระบิลเมือง

การใช้พระคุณกับคนกระทำชั่ว เท่ากับเป็นการใช้พระเดชกับคนดี หรือการแสดงเมตตากับคนผิดคนเดียว เท่ากับเบียนเบียนคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าไม่ให้โอกาสชั่วกลับใจก็เท่ากับบีบให้คนยิ่งชั่ว

การที่ในหลวงพระองค์ต่างๆ ทรงพยายามเลี่ยงออกคำสั่งฆ่าคน หาใช่เพราะทรงใช้พระเดชพระคุณผิด แต่เพราะในหลวงก็ทรงเป็นคนเหมือนกับเรา การจะออกคำสั่งฆ่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนที่เราเชียร์ให้ประหารคนโน้นคนนี่ตามช่องคอมเมนต์

(ภาพการประหารด้วยการตัดคอที่สยาม ภาพเป็นของ Arizona State Library, Archives and Public Records. History and Archives Division.)
__________________________

อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Capital_punishment_in_Japan
https://en.wikipedia.org/wiki/Capital_punishment_by_country
https://deathpenalty.procon.org/view.answers.php…
https://en.wikipedia.org/wiki/Corrections
https://en.wikipedia.org/wiki/Penology
https://en.wikipedia.org/wiki/Capital_punishment