ศิลป์แผ่นดิน..พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9
ชาวต่างชาติทุกคนร้อง ว้าว!! ..บางคนบอกว่า ขึ้นไปแล้ว ถึงกับตะลึงแล
..หรือบางคนบอกว่า ยูทำให้ฉันน้ำตาไหลออกมา
..และบอกว่า อยากได้พระราชาและพระราชินีแบบนี้ไปอยู่ประเทศเขาบ้าง
..หรือบางคนบอกว่า ไม่เข้าใจว่าพระราชินีทำได้อย่างไร
..ต่างประเทศเขาให้ศิลปินมาทำงานศิลปะ แต่พระราชินีของยู เอาคนจนมาทำงานศิลปะ ดูจนจบก็ยังไม่เข้าใจ
..ส่วนคนไทยทุกคน จะบอกว่า ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย รักประเทศไทย กราบพระบาททั้ง 2 พระองค์ที่ทรงสร้างสิ่งเหล่านี้ให้ประเทศ
ทั้งหมดนี้ คือ ผลสัมฤทธิ์แห่งพระราชกรณียกิจ ที่นอกจากเสียงชื่นชมแล้ว เหนือสิ่งเหล่านี้ คือ “กำไรของแผ่นดิน” ที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงฝากไว้ให้แผ่นดิน
..เมื่อแรกทำงานศิลปาชีพ มีคนบอกว่า ทรงตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เอาเงินไปถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เพราะงานศิลปะเหล่านี้ต้องใช้เงินเยอะ ลงไปถมกับคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เสียเวลาเปล่า
พระองค์รับสั่งว่า ขาดทุนเป็นของทั้ง 2 พระองค์ แต่กำไรเป็นของแผ่นดิน ของประเทศชาติ..
“ทั้ง 2 พระองค์ ขาดทุนไม่เป็นไร แต่การสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นคนที่มีคุณค่า นั่นคือ กำไรของแผ่นดิน กำไรของประเทศชาติ” ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าวทิ้งท้ายศิลป์แผ่นดินมรดกของชาติที่จะอยู่คู่ลูกหลานไปอีกนานเท่านานลูกหลานชาวนาสู่ช่างหลวง พระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น
……
ตลอด 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นคู่พระบารมีที่ทรงเคียงคู่ “พระมหาราชาภูมิพลอดุลยเดชฯ” บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับปวงราษฎร์เฉกเช่นเดียวกัน
หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายพระสติปัญญาและพระราชหฤทัยลงไปอย่างเต็มที่และทรงปฏิบัติมาอย่างยาวนานคือ งาน “อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย”
ที่ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “อัคราภิรักษศิลปิน” อันหมายถึง “ศิลปินยิ่งใหญ่ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ”
โดยทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง “โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมศิลปาชีพตลอดเวลากว่า 30 ปี
โรงฝึกแห่งนี้ได้ดำเนินงานก้าวหน้า ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นล้วนมีความวิจิตรงดงามถึงระดับ “ฝีมือช่างหลวง” หรือ “ช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” อาทิ ช่างถมทอง ช่างเครื่องเงินเครื่องทอง ช่างคร่ำ ช่างลงยาสี ช่างปักผ้า ช่างแกะสลักไม้ ช่างเขียนลาย และช่างทอผ้า ฯลฯ
ศิลปาชีพกำเนิดขึ้นจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารตั้งแต่ปี 2493
ทรงเห็นประชาชนตามต่างจังหวัดยากจน และศิลปะไทยจะสูญหาย เสด็จไปทางเหนือ คนทำเครื่องประดับชาวเขาก็มาร้องเรียนว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีคนซื้อเลย เพราะเงินมีราคาแพง
เสด็จไป จ.นครศรีธรรมราช งานถมเงินถมทอง ก็ไม่มีใครทำแล้ว เพราะต้องใช้ทองคำ 100 เปอร์เซ็นต์
“ทั้ง 2 พระองค์ทรงห่วงเรื่องนี้มาก ทรงห่วงแผ่นดินและประชาชนมาก รับสั่งว่า ประเทศไทยจะอยู่รอด จะต้องเกี่ยวเนื่องกับประชาชน ประชาชนเป็นหัวใจสำคัญว่าประเทศไทยจะอยู่ได้ยาวนานขนาดไหน ฉะนั้น การทำให้ประเทศไทยอยู่รอด ประชาชนต้องเข้มแข็ง ประชาชนต้องมีความรัก ความหวงแหนในแผ่นดิน ประเทศไทยถึงจะอยู่รอด ทั้ง 2 พระองค์ทรงคิดอยู่ตลอดเวลาว่า จะทำยังไงให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ทำยังไงให้ศิลปะไทย ให้ประเทศไทยอยู่ได้”
…………………………………
ที่มา : บางส่วนจากประชาชาติธุรกิจ และ เพจ HRH Prince Dipangkorn Rasmijoti