วันอาทิตย์ 24 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

มะสะโอะ โทคิจิ – ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นในสมัยรัชกาลที่ ๕

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยขาดแคลนผู้ชำนาญการที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมอายรยประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติ ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ รัฐบาลไทยจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศ ดังนี้ ชาวอังกฤษ ๑๒๖ คน, ชาวเยอรมัน ๓๖ คน, ชาวอิตาเลียน ๑๒ คน, ชาวฮอลันดา ๑๑ คน, ชาวญี่ปุ่น ๙ คน, ชาวฝรั่งเศส ๕ คน, ชาวเบลเยียม ๕ คน, ชาวอเมริกัน ๔ คน ชาวนอร์เวย์และสวีเดน ๓๙ คน รวมทั้งหมด ๒๔๗ คน ในส่วนของชาวญี่ปุ่น เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยคนแรกคือ อีนางะกิ มันจิโร 稲垣満次郎ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งผู้ชำนาญเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาลไทย

ที่ปรึกษาชาวต่างชาติที่ว่าจ้างมาเป็นชาวยุโรปและอเมริกันมากกว่าครึ่ง ในบรรดาผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญนั้น ดร.มะสะโอะ โทคิจิ เป็นที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นผู้เดียวที่มีบทบาทสำคัญในการเตรียมงานด้านตุลาการของไทยในฐานะผู้ทรงเกียรติสูงสุดในคณะที่ปรึกษาชาวยุโรปและอเมริกัน และในฐานะที่ปรึกษาสูงสุดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม


มะสะโอะ โทคิจิ 政尾藤吉 เกิดที่เมืองโอทซึ จังหวัดเอะฮิเมะ เกาะชิโคะกุ ตระกูลของเขาเป็นพ่อค้าขายของให้เจ้าเมือง แห่งแคว้นโอทซึ แต่ถึงคราวตกอับ เมื่อมีการยุบแคว้นเปลี่ยนเป็นจังหวัดแทน มะสะโอะจึงประสบความลำบากในการศึกษามาตั้งแต่เล็ก ๆ เขาจบการศึกษาแผนกภาษาอังกฤษจากโรงเรียนอุดมศึกษาโตเกียว (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยวาเซดะ) ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่พักหนึ่งก็เดินทางไปอเมริกา เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยดาวิลด์ ต่อจากนั้นย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเยล ได้ดุษฎีบัณฑิตในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๐ และเดินทางกลับญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เดือนสิงหาคมได้รับการชักชวนให้ไปทำงานเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ “เจแปนไทมส์”

เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาทีมีการก่อตั้งสถานกงสุลระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ดร.มะสะโอะ ได้เดินทางมาประเทศไทยในฐานะที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้แนะนำ พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น พระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลกุล หลังจากทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านกฎหมายตุลาการศาลฎีกาและอื่น ๆ เป็นเวลา ๑๖ ปี จึงได้ลาออกจากตำแหน่งใน พ.ศ. ๒๔๕๖ (ตรงกับปีไทโชที่ ๒)

หลังจากกลับประเทศญี่ปุ่น ดร.มะสะโอะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมีบทบาทด้านการเมืองของญี่ปุ่น ในปีไทโชที่ ๘ ได้เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนราษฎร และได้เข้าเผ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดัวย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๓ (ปีไทโชที่ ๙) ได้เดินทางมาประเทศไทยอีกครั้งเพื่อดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม ณ ประเทศไทย ดร.มะสะโอะได้รับการต้อนรับจากทุกวงการและถูกคาดหวังว่าจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นเพื่อทั้ง ๒ ประเทศ แต่ในเดือนสิงหาคม

พ.ศ. ๒๔๖๔ ดร.มะสะโอะ ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันที่กรุงเทพฯ ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก สิริรวมอายุได้ ๕๒ ปี รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดพิธีศพให้กับดร.มะสะโอะอย่างสมเกียรติในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔

ข้อมูลจาก นิทรรศการ “ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น” เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง ๑๒๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ณ ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ตีพิมพ์ในนิตยสารเจแปน เวิลด์ นะอะนิ ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑