“สโมสรสามเหลี่ยม” หรือ “จิตรลดาสโมสร”
.
จิตรลดาสโมสร หรือเรียกกันเป็นสามัญว่า สโมสรสามเหลี่ยมนั้น เป็นสโมสรที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2455
.
เหตุที่เรียกสโมสรนี้ว่า “สโมสรสามเหลี่ยม” ก็เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาชิกสโมสรนี้ทุกพระองค์และทุกคน มีดุมต้นพระศอและดุมคอเสื้อเป็นดุมทองรูปสามเหลี่ยม ในกรอบสามเหลี่ยมตอนกลางมีอักษรจีนลงยาอ่านว่า “ต้า” ซึ่งแปลว่า “โต” อันเป็นพระบรมนามาภิไธยเมื่อทรงพระเยาว์ กับที่ริมขอบทั้งสามด้านเป็นอักษรภาพโบราณ
.
นอกจากนั้นยังทรงกำหนดให้สมาชิกของจิตรลดาสโมสรมีเสื้อครุยพื้นผ้าสีขาว มีสำรดพื้นขาวขลิบเหลืองที่ริมขอบ ติดที่ต้นแขน ปลายแขนและที่ขอบรอบเป็นเสื้อยศของสโมสรนี้ด้วย
.
ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ธิดาของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) อดีตอธิบดีศาลฎีกาและราชเลขาธิการในรัชกาลที่ 6 ได้ขยายความเรื่องจิตรลดาสโมสรนี้ไว้ใน “สโมสรสามเหลี่ยม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ” ว่า
.
“การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งสโมสรกึ่งการเมืองของอังกฤษ เพราะทรงพระราชดำริว่า คนไทยในสมัยนั้นยังไม่ถนัดในการสังคมในระหว่างเพื่อนร่วมงานกันมากนัก โดยมากต่างคนก็ต่างอยู่ ไม่มีสโมสรสถานที่จะได้พบปะกัน เพื่อความรู้และการบันเทิง
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสำเร็จการศึกษามาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการสังคมดีที่สุดประเทศหนึ่ง และสโมสร Atheneum เป็นที่ยอมรับว่า เป็นสโมสรของผู้ที่มีการศึกษาสูงในประเทศอังกฤษ สมาชิกของสโมสรเป็นผู้ชายทั้งหมด ที่มีหน้าที่และอาชีพต่างๆ กัน เป็นข้าราชการบ้าง เป็นทหารผู้ใหญ่บ้าง เป็นนักการเมืองบ้าง เป็นทำนองสโมสรสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการต่างๆ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นชมรม “วงใน” ก็ได้ Atheneum Club นี้ไม่รับสตรีเป็นสมาชิกเลย แต่มีวันหนึ่งในสัปดาห์ซึ่งสมาชิกสามารถเชิญแขกสตรีเข้าไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยได้ และในวันนั้นท่านเซอร์โรนัล อาดัม ประธานบริติช เคาน์ซิล ได้เชิญข้าพเจ้าไปพร้อมด้วย ม.ล.ปิ่น มาลากุล กับเลดี้อาดัม ภรรยาของท่านเอง
.
ข้าพเจ้าจึงได้ทราบหลักการของสโมสรนี้ และทราบต่อไปด้วยว่า คำว่า Atheneum เป็นชื่อวิมานของพระเป็นเจ้าของกรีกโบราณ ที่ทรงนามว่า อาธีนา (Athena) เป็นเทพเจ้าฝ่ายหญิง ซึ่งที่จริงควรเรียกท่านว่า เทพธิดาแห่งความฉลาดและวิชาความรู้ (Goddess of Wisdom)…
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ข้าพเจ้าจึงคิดว่าพระองค์ทรงโปรดหลักการของสโมสรนี้ เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชย์สมบัติในระยะแรกเคยมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น จึงคงจะทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงสโมสรนี้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสโมสรสามเหลี่ยมขึ้น โดยโปรดให้ข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงคุ้นเคยบางท่านมาร่วมเป็นสมาชิก 30 ท่าน รวมทั้งพระองค์เองด้วย…
.
สมาชิกสโมสรสามเหลี่ยมนี้ ทรงเลือกคนที่มีความสามารถพิเศษทางใดทางหนึ่ง ได้ทราบว่าพระบรมราโชบายที่ทรงตั้งสโมสรนี้ขึ้นในสมัยนั้นก็เพราะมีพระราชประสงค์จะทรงทราบว่าใครมีความรู้เรื่องอะไรบ้างก็จะได้เล่าแลกเปลี่ยนสู่กันฟัง…
.
โดยปกติสโมสรสามเหลี่ยมมีการชุมนุมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุกวันเสาร์ แต่บางทีก็มีวันพุธบ้าง ชุมนุมแล้วจึงมีการเลี้ยงอาหารค่ำที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน การเลี้ยงเช่นนี้เรียกว่า “อันเต” ซึ่งย่อมาจากคำว่า “อันเตปุริกธุริณ” เพราะในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก มีข้าราชการและเจ้านายไปฟังข่าวการเสด็จพระราชดำเนินว่าทรงพระสำราญหรือทรงระคายเคืองเบื้องพระบาทอย่างไรบ้าง เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ไปชุมนุมฟังข่าวกันที่พระที่นั่งอภิเศกดุสิตทุกวัน และมีคนมามากเข้าทุกที และต้องอยู่ดึกเข้าทุกที จนต่างคนต่างหิวจึงต้องหาอาหารไปกินด้วย
.
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงคิดให้มีการเลี้ยงอาหารแบบต่างคนต่างนำมาจากบ้าน แล้วมารวมกันรับประทาน ทรงขอให้สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบศาลายาวมุงหลังคาจากขึ้น สำหรับเป็นที่ชุมนุมฟังข่าวเสด็จฯ และรับประทานอาหารร่วมกัน แล้วทรงขอให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการคนแรกคิดชื่อศาลาให้ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้คิดชื่อว่า “อันเตปุริกธุริณศาลา” ซึ่งแผลงมาจากภาษาบาลีสันสกฤตปนไทย ที่มีความหมายว่าเป็นศาลาสำหรับธุรกิจวงใน
.
ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นคนอยู่ในราชสำนักรัชกาลที่ 6 จึงไม่ทราบว่าทรงพระราชดำริอย่างไรที่ทรงเรียกว่าสโมสรสามเหลี่ยม แต่เดาเอาว่าอาจทรงหมายถึงสถาบันทั้งสาม คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กระมัง… สมาชิกมีเวรกันเป็นผู้จัดเลี้ยงอาหาร ถึงเวรใครคนนั้นก็ต้องเลี้ยงโดยพระเจ้าอยู่หัวประทับเป็นประธาน เลี้ยงแล้วต้องมีการแสดงเฉพาะหน้าพระที่นั่ง แต่พระราชประสงค์เดิมของพระองค์ค่อยๆ เลือนไปทุกที เพราะเข้าใจว่าในชั้นแรกทรงตั้งพระราชหฤทัยจะให้เป็นองค์การสำหรับชุมนุมกันในระหว่างผู้ใกล้ชิดเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และรับทราบข่าวที่คนภายนอกโจษขานกันว่าอย่างไรจากสมาชิก30 คนที่ทรงตั้งโดยความไว้วางพระราชหฤทัย ให้มีการเปิดประชุมและสมาชิกเสนอเรื่องต่างๆ แล้วจึงมีการเลี้ยงอาหาร”
.
ข้อมูลจาก หนังสือ ราชสำนักรัชกาลที่ 6 เขียนโดย วรชาติ มีชูบท สำนักพิมพ์มติชน
.
ภาพประกอบ (ตรงกลาง) ตราสัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยมของจิตรลดาสโมสร