วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

อดีตนายพล ฆ่าตัวตายในศาลยูเอ็นหลังถูกพิพากษา คดีสงครามบอสเนีย

– อาชญากรสงครามบอสเนีย-โครแอตรายหนึ่ง ก่อเหตุสุดช็อก ดื่มยาพิษฆ่าตัวตายระหว่างที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในเมืองเฮก กำลังอ่านคำพิพากษาเขาในวันพุธ (29 พ.ย.) ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐโครเอเชีย

สโลโบดัน ปราลยัค วัย 72 ปี หนึ่งในอดีตแกนนำสมัยสงคราม ถูกกล้องจับภาพไว้ได้ขณะที่กำลังดื่มบางอย่างที่บรรจุอยู่ในภาชนะขนาดเล็ก ไม่นานหลังจากเขาได้รับฟังคำตัดสินของศาลที่พิจารณาคำอุทธรณ์ของเขา

จากนั้นทนายจำเลยบอกกับศาลว่าจำเลยดื่มยาพิษ ส่งผลให้ประธานศาลหยุดกระบวนการต่างๆ และสั่งให้เจ้าหน้าที่เรียกแพทย์เข้ามาดูอาการปราลยัค 

สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐโครเอเชียรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับปราลยัค เผยว่า เขาไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเมืองเฮก ด้านผู้พิพากษายูเอ็นท่านหนึ่งเรียกศาลอาญาระหว่างประเทศว่าเป็น “สถานที่เกิดเหตุอาชญากรรม” และเผยว่าตำรวจเนเธอร์แลนด์กำลังสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


ก่อนที่จะดื่มสารพิษ ศาลได้พิพากษายืนโทษจำคุก 20 ปีของเขาตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม สู้รบฆ่าล้างชาวมุสลิมในเมืองมอสตาร์ของบอสเนีย ขณะที่ ปราลยัค เป็น 1 ใน 6 อดีตแกนนำสมัยสงครามบอสเนีย-โครแอต ที่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสหประชาชาติแห่งนี้ ทั้งนี้ตัวเขายืนกรานกับผู้พิพากษาว่าเขาไม่ใช่ “อาชญากรสงคราม”

การออกอากาศสดภายในห้องพิจารณาคดีถูกตัดไม่นานหลังจาก ปราลยัค ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย ขณะที่รายงานข่าวบ่งชี้ว่าศาลขอให้เก็บแก้วของปราลยัคไว้เป็นหลักฐาน และพบเห็นหน่วยฉุกเฉินรุดมายังสถานที่เกิดเหตุ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลแห่งเดียวกันนี้เพิ่งพิพากษาลงโทษจำคุก รัตโก มลาดิช อดีตนายพลบอสเนียเซิร์บ ตลอดชีวิต สำหรับบทบาทของเขาในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามบอลข่านในช่วงทศวรรษ 1990 โดย มลาดิช ถูกพบว่ามีความผิด 10 จาก 11 ข้อกล่าวหา ในนั้นรวมถึงสังหารหมู่กลุ่มผู้ชายและเด็กชายชาวมุสลิมบอสเนีย ในเซเบรนิกา ช่วงปี 1995 ขณะที่เขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 


เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ว่านายกรัฐมนตรีอังเดร เพลนโควิช กล่าวเมื่อวันพุธ หลังพล.อ.สโลโบดัน ปราลยัค ดื่มยาพิษต่อหน้าคณะผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่ออดีตยูโกสลาเวีย ( ไอซีทีวาย ) ในกรุงเฮก หลังรับทราบคำพิพากษายืนบทลงโทษจำคุก 20 ปี ในคดีอาชญากรรม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในสงครามบอสเนีย และพล.อ.ปราลยัคเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตะลึงอย่างยิ่ง และเขาขอแสดงความเสียใจอย่างสูงสุดไปยังครอบครัวของพล.อ.ปราลยัค

 

 

อย่างไรก็ตาม เพลนโควิชกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งเป็นการตอกย้ำ “ความอยุติธรรมทางศีลธรรม” ของกระบวนการพิจารณาคดี ที่มีต่อพล.อ.ปราลยัคและจำเลยร่วมในคดีเดียวกันอีก 5 คน ซึ่งเป็นชาวโครแอตทั้งหมด โดยศาลพิพากษายืนบทลงโทษจำคุกให้แก่ผู้ต้องหาทุกคนซึ่งเป็นชาวโครแอต อยู่ที่ระหว่าง 10 ปีถึง 25 ปี

 

ขณะที่ต่อมาฝ่ายอัยการของไอซีทีวายออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ “หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในโครเอเชีย” ยอมรับคำพิพากษาของศาล ซึ่งพิจารณาตามบริบทของความเป็นจริงและบนพื้นฐานของความประนีประนอม โดยไม่มีการพาดพิงบุคคลใดอย่างชัดเจน และไม่มีการระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพล.อ.ปราลยัค ด้านสำนักงานตำรวจกรุงเฮกประกาศสอบสวนการเสียชีวิตของพล.อ.ปราลยัคเป็นคดีอาชญากรรม โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าผู้ต้องหานำยาพิษเข้าสู่ห้องพิจารณาคดีที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาและรัดกุมขั้นสูงสุดได้อย่างไร

 

ทั้งนี้ ในความเป็นจริงถือว่าพล.อ. ปราลยัค วัย 72 ปี ใกล้ได้รับอิสรภาพแล้ว เนื่องจากรับโทษจำคุกมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 2547 ซึ่งเกินกว่า 2 ใน 3 ของบทลงโทษ ที่ระบุว่าพล.อ.ปราลยัคมีความผิดจริงในทุกข้อหา เกี่ยวข้องกับสงครามบอสเนียซึ่งมีชนวนเหตุจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ อันเป็นผลจากการล่มสลายของยูโกสลาเวีย กินเวลาระหว่างปี 2535 ถึง 2538 ที่ยุติด้วยการเสียชีวิตของผู้คนมากกว่า 100,000 คน

แน่นอนว่าการตัดสินใจจบชีวิตตัวเองของพล.อ.ปราลยัคสร้างความตกตะลึงอย่างหนักให้แก่ทุกฝ่ายในห้องพิจารณาคดี จนผู้พิพากษาต้องสั่งเลิกศาลทันที แต่พล.อ. ปราลยัคไม่ใช่ผู้ต้องหาคนแรกในคดีนี้ที่ปลิดชีวิตตัวเองระหว่างอยู่ในขั้นตอนการไต่สวน ย้อนกลับไปเมื่อเดือนก.ค. 2541 นายสลาฟโก ด็อกมาโนวิช ชาวโครแอต-เซิร์บ เสียชีวิตภายในห้องขัง ระหว่างรอรับการไต่สวนในคดีการเสียชีวิตของนักโทษชาวโครเอเชีย 200 คน  และนายมิลาน บาบิก  อดีตผู้นำเซอร์เบีย เสียชีวิตหลังทำอัตวินิบาตกรรมภายในห้องขัง เมื่อเดือนมี.ค. 2549….

————————
อัยการของเนเธอร์แลนด์ให้น้ำหนักกับความหละหลวมของมาตรการรักษาความปลอดภัย ในการสืบสวนสอบสวนการเสียชีวิตของอดีตนายพลชาวโครแอต หนึ่งในจำเลยคนสำคัญของคดีสงครามบอสเนีย ซึ่งดื่มยาพิษต่อหน้าผู้พิพากษาศาลพิเศษของสหประชาชาติ
ศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2560 เวลา 10.04 น.

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ว่านางมาริลีน ฟิเคนเชอร์ อัยการกลางของเนเธอร์แลนด์ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี เกี่ยวกับความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่พล.อ.สโลโบดัน ปราลยัคดื่มยาพิษต่อหน้าคณะผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่ออดีตยูโกสลาเวีย ( ไอซีทีวาย ) ในกรุงเฮก หลังรับทราบคำพิพากษายืนบทลงโทษจำคุก 20 ปี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก่อนที่ต่อมาอดีตผู้บัญชาการกองกำลังบอสเนีย-โครแอต เสียชีวิตที่โรงพยาบาล ด้วยวัย 72 ปี ว่าผลการตรวจสอบสารที่อยู่ในขวดเบื้องต้นพบว่าเป็น “สารเคมีที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต”

ในส่วนของการชันสูตรศพที่รวมถึงการวิเคราะห์ด้านพิษวิทยาจะเกิดขึ้นภายในเร็ววันนี้  แต่ยังไม่สามารถระบุกรอบระยะเวลาได้อย่างชัดเจนว่าจะนานเท่าใด นอกจากนี้ อัยการจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนในประเด็นที่ว่า พล.อ.ปราลยัคพกขวดบรรจุสารเคมีเข้าสู่ห้องพิจารณาคดีได้อย่างไรด้วย โดยตั้งสมมติฐานความบกพร่องของมาตรการรักษาความปลอดภัย ทั้งที่มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หลังการถึงแก่อสัญกรรม “อย่างปริศนา” ภายในเรือนจำไอซีทีวาย เมื่อปี 2549  ของนายสโลโบดัน มิโลเซวิช อดีตประธานาธิบดียูโกสลาเวีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญของคดีสงครามบอสเนีย

ขณะที่สื่อท้องถิ่นหลายแห่งของเนเธอร์แลนด์รายงานว่า การที่ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ของไอซีทีวายมีอายุมากแล้วจึงมีสุขภาพทรุดโทรมตามวัย ถือว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่พล.อ.ปราลยัคสามารถนำยาพิษติดตัวเข้าไปด้วยได้ และอ้างกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ว่าเป็นยารักษาโรคประจำตัว

 

อย่างไรก็ตาม สื่อทุกแห่งในโครเอเชียพร้อมใจกันเสนอรายงานว่าการเสียชีวิตของพล.อ.ปราลยัค “เป็นความผิด” ของไอซีทีวาย ด้านนายกรัฐมนตรีอังเดร เพลนโควิช วิจารณ์กระบวนการพิจารณาของไอซีทีวายว่า “ไม่เป็นธรรม” แต่กล่าวด้วยว่าคำพิพากษามีผลเฉพาะ “ต่อตัวบุคคล” ไม่ใช่ “ในนามรัฐ” หลังอัยการของไอซีทีวายเรียกร้องให้รัฐบาลโครเอเชียยอมรับคำพิพากษาต่อพล.อ.ปราลยัค และจำเลยอีก 5 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองระดับอาวุโสของโครเอเชีย และศาลพิพากษายืนบทลงโทษจำคุกระหว่าง 10-25 ปี

อนึ่ง กระบวนการไต่สวนและพิพากษาบทลงโทษต่อผู้ต้องหาของไอซีทีวีค่อนข้างซับซ้อน ปัจจุบันมีจำนวนจำเลยในคดีสงครามบอสเนียทั้งสิ้น 161 คน เป็นชาวโครแอต ชาวเซิร์บ ชาวบอสเนีย และชาวมอนเตเนโกร โดยสงครามบอสเนียเกิดขึ้นระหว่างปี 2535-2538 ด้วยชนวนเหตุจากความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์เป็นสำคัญ ที่เป็นผลจากการล่มสลายของยโกสลาเวีย มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100,000 คน และเป็นคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คดีแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2.