ลักษณะทั่วไปที่ตั้ง อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า) ตั้งอยู่ด้านหลังของสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิของเหล่าทหารที่เสียชีวิต ในการปราบฮ่อ หรือพวกจีนฮ่อที่ก่อการกบฎเพื่อล้มล้างราชวงศ์แมนจู เมื่อปีพุทธศักราช 2046 ซึ่งยกกองทัพมารุกรานมณฑลลาวพวน หนองคายเมื่อรัตนโกสินทร์ศักราช 105 ตรงกับปีพุทธศักราช 2429 โดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมมีรับสั่งให้จัดสร้างเป็นอนุสาวรีย์ขึ้นสภาพของอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เป็นศิลปะประยุกต์แบบรูปทรงสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน มีฐานเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 4 เมตร ส่วนสูง 10.10 เมตร ส่วนยอดเป็นรูปทรงกรวยเหลี่ยมปลายแหลม
อาณาเขตทิศเหนือ จดศาลากลางจังหวัดหนองคายทิศใต้ จดถนนเจนจบทิศและสนามกีฬากลางจังหวัด หนองคายทิศตะวันออก จดสถานีตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายทิศตะวันตก จดศาลจังหวัดหนองคาย
ประวัติความเป็นมาเมื่อปีพุทธศักราช 2420 พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เป็นเจ้าเมืองหนองคาย ได้เกิดศึกฮ่อขึ้นโดยพวกฮ่อได้ยกกองทัพเข้าตีเมือง เวียงจันทน์ในประเทศลาว แล้วตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ และตระเตรียมเสบียงอาหารไว้เพื่อโจมตี เมืองรายทางต่างๆ เรื่อยมาจนถึงเมืองหนองคาย ซึ่งขณะนั้นพระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายไม่อยู่ ได้มอบให้ท้าวจันทร์ศรีสุราชรักษาเมืองแทน พอได้รับข่าวศึก ก็มิได้มีการตระเตรียมกองทัพไว้สู้ศึก ทำให้ราษฎรพากันอพยพครอบครัวหนีออกจากเมือง ทำให้พวกฮ่อยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายส่วนท้าวจันทน์ศรีสุราชได้พาครอบครัวหนีไปอยู่บ้านสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี และพระยา พิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองโพนพิสัยพร้อมด้วยกรมการเมืองก็พาราษฎรหนีออกจากเมืองไปเช่นเดียวกันเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงทราบข่าวศึกฮ่อยกกองทัพเข้ามาตีเมืองหนองคาย จึงทรงมีพระบรมราชโองการ ให้พระยามหาอำมาตย์ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปปราบฮ่อที่เมืองอุบลราชธานีอยู่แล้ว ยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายและสั่งให้จับ ท้าวจันทน์ศรีสุราช กับพระยาพิไสยสรเดชประหารชีวิตเสียทั้งคู่ จากนั้นพระยามหาอำมาตย์ จึงได้เกณฑ์กำลังจากเมือง นครพนม มุกดาหาร เขมราช นครราชสีมา และร้อยเอ็ดมาสมทบกันที่เมืองหนองคาย แล้วยกกองทัพออกไปตีพวกฮ่อจนถึงเมืองเวียงจันทน์ พวกฮ่อพ่ายแพ้ พากันหนีเข้าป่าไปเมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว พระยามหาอำมาตย์จึงได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเวียงจันทน์มาเป็นเชลยลงมาไว้ที่เมืองหนองคาย แล้วจึงยกกองทัพกลับกรุงเทพ ฯในปีพุทธศักราช 2427 พวกฮ่อรวบรวมกำลังกันได้ก็ยกกองทัพเข้าโจมตีเมืองต่างๆ อีกทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนอยู่เนืองๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู้หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้มหาดไทยเมืองนครราชสีมายกกองทัพไปปราบพวกฮ่อ จนแตกหนีไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองขวาง และทุ่งเชียงคำในปีพุทธศักราช 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนุกูล และพระยา ศรีสุริยราชวรานุวัตร ยกกองทัพขึ้นไปปราบพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ เมื่อวันพุธ ขึ้น 14 ค่ำเดือน 4 เวลาประมาณ 2 โมงเช้า การรบถึงขั้น ตะลุมบอลพวกฮ่อสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไป พระยาราชนุกูลถูกลูกปืนของข้าศึกแข้งแตกเดินไม่ได้ ในเวลา 4 โมงเย็น พวกฮ่อรวบรวมกำลังกัน ยกกองทัพมาตีเพื่อยึดค่ายคืนอีกแต่ไม่สำเร็จ กองทัพไทยยกเข้าไปล้อมพวกฮ่อไว้นาน 7 วัน พวกฮ่อจึงขอเจรจาสงบศึกโดยขอให้ไทย ยกกองทัพกลับ แล้วจะมอบสิ่งของในค่ายฮ่อให้ครึ่งหนึ่ง แต่กองทัพไทยไม่ยอมเพราะไม่ไว้ใจพวกฮ่อเพื่อให้การปราบพวกฮ่อเป็นไปอย่างรวดเร็วเด็ดขาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ “กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม” คุมกองทัพ ขึ้นไปสมทบ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงดำรัสให้พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุญนาค) ม.ร.ว.วรุณ พระยาสุริยเดช พระราชวรรินทร์ และพระเจริญราชอาณาเขตยกกองทัพไปสมทบ กองทัพไทยได้เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายของพวกฮ่อจนฮ่อแตกหนีไป กองทัพจึงได้ยก กองทัพกลับเมืองหนองคาย เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ สงบเรียบร้อยแล้ว กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงโปรด ให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อขึ้นที่ เมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิทหารจากกรม กองต่างๆ ที่เสียชีพเพื่อชาติในครั้งนั้น ดังนี้1. กรมทหารอาสาวิเศษ2. กรมแปดเหล่า3. กรมฝรั่งแม่นปืน4. กรมทหารมาลา5. กรมสัสดี6. กรมเรือต้น7. กรมทหารมหาดเล็ก8. กรมการหัวเมืองที่ด้านข้างอนุสาวรีย์ ทั้ง 4 ด้านได้จารึกอักษรไว้ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอักฤษ ภาษาจีนและภาษาลาว มีข้อความว่า
ปางนี้จักแสดง | พจน์พร้อมผู้ภักดี |
ในอนุสาวรีย์ | ไว้เป็นที่ระลึกตาม |
ผู้กอปรด้วยภักดี | ดังอาภรณ์ประดับงาม |
ชีพมลายขจรนาม | ปรากฎเกียรตินิรันดร |
สูญสุริย์จันทร | จึงจะสูญซึ่งความดี |
วายชีพทำการกิจ | โดยความสวามี |
ภักดีต่อชุลี | ละอองบาททบมาลย์ |
ปวงปราชญ์คงจักซ้อง | ศรับแล้วสาธุการ |
นับว่าเป็นทัยสูญ | ขมีขลาดขยาดขย่อน |
องอาจต่อราชกิจ | มิได้คิดแต่ความมรณ์ |
คณะเทพไตรสร | จักชูช่วยอำนวยผล |
นำขันธ์เสวยสุข | นฤทุกข์บได้ผล |
สุขขกิจจงจักดล | ประโลกยับแปรปรวน |
สุดท้ายมีคำจารึกไว้ว่า “อนุสาวรีย์นี้ได้เปิดแต่ศักราช 1247 ควบ 1248 พุทธศักราชล่วงแล้ว”
การบูรณะและปฏิสังขรณ์ในปีพุทธศักราช 2492 จังหวัดหนองคาย ได้รับงบประมาณการบูรณปฏิสังขรณ์อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ของวีรบุรุษ ผู้กล้าหาญของแผ่นดิน และประเทศชาติอันเหมาะสม คณะกรรมการจังหวัดหนองคายจึงได้ย้ายสถานที่ก่อสร้าง อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ มาสร้างใหม่อย่างโดดเด่น เป็นสง่าอยู่ ณ บริเวณสามแยกทางเข้าเมืองหนองคาย ด้านหลังศาลากลางจังหวัดหนองคาย จนปัจจุบัน
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เป็นอนุสรณ์สถานที่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้จัดสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของเหล่าทหารของชาติ ที่เสียสละชีวิต เพื่อป้องกันประเทศชาติในการปราบพวกฮ่อ ในสมัยรัชกาลที่ 5 และในวันที่ 10 มีนาคม ของทุกปี จังหวัดหนองคาย จะประกอบพิธีบวงสรวง ดวงวิญญาณของนักรบไทย ที่เสียสละชีวิต ในการปราบฮ่อ พร้อมกับมีการแสดงมหรสพเฉลิมฉลองสมโภช งานตลอด 5 วัน 5 คืน ณ บริเวณอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ