ถนนสาย “ละหานทราย-ตาพระยา” เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ก่อสร้างในห้วงเวลาการสู้รบระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หรือ “ผกค.” การต่อต้านจากผกค. เป็นไปอย่างรุนแรง แต่ด้วยความกล้าหาญของชาวบุรีรัมย์ที่ผนึกกำลังกับ ทหาร ตำรวจ ยอมเสียสละชีวิตกว่า 100 นาย เส้นทางสายนี้จึงสำเร็จลงได้ และคือที่มาของ “อนุสาวรีย์เราสู้” วีรกรรมผู้กล้าชาวบ้านโนนดินแดง
บรรพบุรุษของไทยแต่อดีต ไม่ว่าหญิงหรือชาย ได้ยอมเสียสละเลือดเนื้อ ชีวิต เพื่อปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยเอาไว้ให้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน จนพวกเราทุกคนได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขสืบมา ทางหนึ่งที่แสดงออกได้ถึงการสำนึกในบุญคุณและเทิดทูนวีรกรรมดังกล่าว คือการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจดังเช่น “อนุสาวรีย์เราสู้” ที่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์
“เราสู้” เป็นอนุสาวรีย์แห่งใหม่ สร้างในสมัย นายบำรุง สุขบุษย์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ โดย กอ.รมน.จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับข้าราชการและประชาชนชาวบุรีรัมย์ร่วมกันจัดสร้างขึ้น ณ ริมทางหลวงสายละหานทราย-ตาพระยา ที่ บ้านโนนดินแดง ต.โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ห่างจากศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ 103 กิโลเมตร
“อนุสาวรีย์เราสู้” แห่งนี้ใช้เวลาก่อสร้างนาน 1 ปี ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม 2522 ถึง 26 สิงหาคม 2523 เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเกียรติประวัติ และสดุดีวีรกรรมประชาชน เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ได้ผนึกกำลังเข้าร่วมต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ที่ดักซุ่มโจมตีขัดขวางการก่อสร้างถนนสายละหานทราย-ตาพระยา และด้วยความกล้าหาญ ความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เส้นทางสายยุทธศาสตร์เส้นนี้จึงสำเร็จลงได้
ก่อนปี พ.ศ.2508 ห้วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรง จนถึงขั้นใช้กำลังเข้าตัดสินปัญหา ได้มีการยุยงปลุกปั่นราษฎรให้เลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ เพื่อต่อต้านรัฐบาลมีการสะสมกองกำลังขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีการก่อการร้ายเป็นระยะ จนเหตุการณ์ได้ถึงจุดรุนแรงที่สุดในปี พ.ศ.2521
เส้นทางสายยุทธศาสตร์บุรีรัมย์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2513 เมื่อรัฐบาลได้เริ่มโครงการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 61 อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ กับหลักกิโลเมตรที่ 118 อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ในปัจจุบันเป็นระยะทาง 57 กิโลเมตร
เหตุที่ต้องก่อสร้างเส้นทางสายนี้เพราะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศด้านชายแดนไทย-กัมพูชา โดยต้องตัดผ่านเขตอิทธิพลของ ผกค.ทำให้ฝ่าย ผกค.ต่อต้านขัดขวางการก่อสร้างสายนี้ทุกวิถีทาง ด้วยการวางทุ่นระเบิดอย่างหนาแน่น ดักซุ่มยิง ซุ่มโจมตีที่ตั้งกำลังทหารที่คุ้มกันการก่อสร้าง เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และ ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ทำให้ราษฎรในพื้นที่พากันรวบรวมกำลังพลต่อสู้กับ ผกค. อย่างห้าวหาญเส้นทางสายนี้จึงสำเร็จลงได้
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้รักษาประชาธิปไตยต้องสูญเสียชีวิตพลเรือน ตำรวจ ทหาร และ ทสปช. จำนวนถึง 108 คน บาดเจ็บ 222 คน ในจำนวนนี้ทุพพลภาพ 25 คน และ สูญเสียยานพาหนะ เครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างรวม 23 คัน และ รวมระยะเวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปี 8 เดือน สิ้นงบประมาณ 72,010,053 บาท
เพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสียสละอันยิ่งใหญ่และสดุดีวีรกรรมของผู้กล้า ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น ได้เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์สร้าง“อนุสาวรีย์เราสู้” ขึ้น
“เราสู้” เป็นชื่อที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” มาใช้ โดยมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2523 และได้ถือเอาวันที่ 27 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงอนุสาวรีย์เราสู้ ซึ่งทางจังหวัดและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศล และวางพวงมาลา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้คนไทยรำลึกถึงวีรกรรมผู้กล้า เป็นประจำทุกปี
“อนุสาวรีย์เราสู้” คือ ความภาคภูมิใจในสายเลือดผู้กล้าของลูกหลานชาวบุรีรัมย์ และต่างให้คำมั่นสัญญาที่จะสืบสานปณิธานเพื่อรักษาแผ่นดินไทยให้คงอยู่คู่นิรันดร์