ช่วงเกิดเหตุการณ์คณะทหารออกปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เจ้านายสตรีที่ประทับอยู่ในวังต่าง ๆ ต่างมีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้และถ่ายทอดออกมาผ่านบันทึกอย่างหลากหลาย ซึ่งล้วนสะท้อนสภาพและบรรยากาศปรากฏการณ์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศได้ระดับหนึ่ง
เจ้านายสตรีฝ่ายในตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เรื่อยมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงประทับอยู่ในพระตำหนักฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะประทับตามวังต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ โดยผู้ที่เป็นเจ้าของวังเหล่านั้นมีทั้งพระราชโอรส พระราชธิดา และพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่หลายพระองค์ เช่น
- วังบางขุนพรม – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
- วังวรดิศ – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- วังคลองเตย – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- วังสวนสุนันทา – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้สร้างความวิตกให้กับพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ โดยเฉพาะกับเจ้านายสตรีที่ประทับอยู่ในวังต่าง ๆ เหล่านั้น เนื่องจากทหารคณะปฏิวัติได้มาคุมตัวเจ้านายพระองค์สำคัญ ๆ ในพระราชวงศ์ไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ขณะที่เจ้านายสตรีหลายพระองค์ก็มิได้หวั่นเกรงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ขณะทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่วังบางขุนพรม พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบงทรงบันทึกเหตุการณ์ในเช้าวันนั้นว่า
“ข้าพเจ้านอนอยู่ในห้อง ซึ่งมองเห็นแม่น้ำ ถูกปลุกขึ้นเพราะเสียงปืนหลายนัด ลุกขึ้นไปที่เฉลียงเล็กหน้าห้องเจ๊กคนสวน 2 คน ที่สนามหญ้าใกล้ตำหนัก จึงตะโกนถามว่า “ใครเข้ามายิงนกถึงที่นี่” คนสวนบอกว่า “ไม่ใช่ยิงนก” ข้าพเจ้าออกวิ่งไปทางสะพานถึงเฉลียงตำหนักใหญ่ เห็นแม่ยืนอยู่ตรงช่องสุดท้ายของเฉลียง เยี่ยมดูอยู่องค์เดียว ไม่มีข้าหลวงสักคน ที่ห้องข้าพเจ้าก็เหมือนกัน ยิ่งไม่มีใครขึ้นมาเลย เห็นคนใส่ยูนิฟอร์มทหารบ่าแดงกลุ่มใหญ่ยืนอยู่ริมสนาม แม่และข้าพเจ้าก็ดูไม่ออกว่าเป็นทหารเหล่าไหน
ข้าพเจ้าชวนแม่เดินลงไปตำหนักน้ำ แล้วเดินไปลงอัฒจันทร์ใหญ่ เร็วเท่าที่แม่จะวิ่งได้ เลี้ยวขวาไปถึงทางลงไปถนน พอถึงระยะที่มองเห็นพ่อ ทรงสนับเพลาขาว ฉลององค์ขาว ชุดบรรทม ยืนอยู่กับอีกหลายคน ข้าพเจ้าก็ออกวิ่งจี๋ ทิ้งแม่ไว้ข้างหลัง ข้าพเจ้าเห็นนายตำรวจ 2 คนยืนอยู่หลังทูลหม่อมพ่อ… มีเด็จย่า น้องๆ และหม่อมสมพันธ์ รายล้อมอยู่ ต่อมาแม่ก็เข้ากองด้วย
โดยความสัตย์จริงแล้วไม่ได้รู้สึกกลัวมากมายอะไร หรือจะตกใจจนชาก็ไม่ทราบ เขาคะยั้นคะยอก็เลยเดินลงสะพานน้ำตามๆ กันไป แม้แต่เด็จย่า ซึ่งพระชันษา 68 แล้ว และสมัยนั้นนับว่าเป็นคนแก่มาก ก็มีหอกปลายปืนจ่อเดินขึ้นมาอย่างสง่าผ่าเผย”
ขณะที่ หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า “เช้าวันนั้นฉันตื่นนอนแล้วเข้าห้องน้ำ เจ้าพี่หญิงใหญ่มาทรงตบประตูเรียกให้ออกไปและรับสั่งด้วยพระอาการร้อนรนว่า “มัวแต่อยู่ในห้องน้ำ เร็ว ๆ เข้าสิ มีคนมาบอกว่าเกิดอะไรไม่รู้ที่วังบางขุนพรหม ทูลกระหม่อมเสด็จลงเรือไปแล้ว”
ผู้ที่ทรงเคาะประตูเรียกหม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล คือ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยทหารคณะปฏิวัติได้ทูลเชิญสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปพระที่นั่งอนันตสมาคม หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล ทรงบันทึกไว้อีกว่า เจ้านายพระยศสูง ๆ ถูกนำตัวไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคมจำนวนมาก แล้วหม่อมเจ้าทักษิณาธร ดิศกุล หรือที่เรียกกันลำลองว่าหญิงโหล มาหาพระองค์แล้วประทับอยู่ด้วยกันสองพระองค์ด้วยความวิตก ทรงบันทึกว่า
“เราจัดการผูกมุ้งนอนกันสองคนที่เฉลียงนอกห้องนอน เผื่อว่ามีใครโผล่ขึ้นมาคิดจะฆ่าเรา จะได้เห็นหน้าชัด ๆ ก่อนว่าเป็นใคร นอนเกยกันอยู่ทั้งคืนจนเช้าก็ไม่เห็นมีอะไร จากนั้นบรรดาพระญาติที่หลบภัยไปก็กลับมากัน”
ทางด้านวังสวนสุนันทา ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นวังที่มีเจ้านายฝ่ายในประทับอยู่มากกว่าวังอื่น ๆ ได้มีทหารจากคณะปฏิวัติมาเฝ้าวังสวนสุนันทาจนทำให้เจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ตื่นตกใจกลัว บรรดาเจ้านายฝ่ายในจึงมาร่วมตัวกันที่ตำหนักของสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ พระธิดาในรัชกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ ถือเป็นองค์ประธานในเขตวังสวนสุนันทาเพราะพระองค์มีพระยศสูงที่สุด
ที่วังสวนสุนันทานั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร พระธิดาในพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขณะนั้นมีพระชนม์ประมาณ 10 พรรษา ทรงบันทึกไว้ภายหลังว่า “ได้มีความกลัวเป็นกำลัง กลัวอะไร กลัวใครก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ากลัวแบบกลัวผี ยิ่งได้ทราบข่าวว่าเขาส่งนักเรียนนายดาบมาเฝ้าหน้าประตูวังชั้นนอกของวังสุนันทาแล้วยิ่งกลัวใหญ่”
“มันคล้ายๆ กับบ้านแตกสาแหรกขาด คือไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”
นอกจากนี้เจ้านายสตรีบางพระองค์ก็ถูกนำไปเป็น “ตัวประกัน” ด้วยเช่นกัน เช่น หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ หม่อมเจ้าพัฒนายุ ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งล้วนเข้าไปอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อดูแลพระสวามีและพระบิดาที่ถูกนำไปเป็นตัวประกัน
อย่างไรก็ตาม เจ้านายสตรีพระองค์หนึ่งที่มิได้หวาดกลัวเหตุการณ์นี้คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ พระธิดาในรัชกาลที่ 5 เมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติขึ้นยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังไม่ยอมเสด็จไปไหน แม้ว่าจะมีคนใกล้ชิดอยากให้เสด็จประทับที่อื่นหรือเสด็จต่างประเทศ แต่พระองค์ก็ไม่เสด็จ ทำนองวาทะว่า “จะให้ยึดอะไรก็ยึดไป ไม่กลัวตายเลยทั้งนั้น”
ขณะที่เจ้านายสตรีที่ดำรงพระยศสูงสุดในฝ่ายในในขณะนั้นคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่ทรงประทับอยู่ที่วังไกลกังวลพร้อมด้วย รัชกาลที่ 7 พระองค์มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์นี้ว่า
“ฉันไม่คิด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน”
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |