เยอรมนีเร่งผ่าทางตันการเมือง หลังยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ประธานาธิบดีเยอรมนีเรียกร้องพรรคการเมืองเห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก หลังการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล “ล้มเหลว”
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ว่านายแฟรงก์-วอลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี แถลงเมื่อวันจันทร์ หลังให้นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล เข้าพบหารือที่ทำเนียบเบลเลวู เรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองปรับเปลี่ยน “ทัศนคติ” ของตัวเอง เพื่อผลประโยชน์ของบ้านเมือง และการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองภายในที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป ด้านแมร์เคิลกล่าวว่าเธอ “ไม่เชื่อมั่น” ในการบริหารประเทศด้วยรัฐบาลเสียงข้างน้อย ส่งสัญญาณเป็นนัยถึงการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด หลังพรรคประชาธิปไตยเสรี ( เอฟดีพี ) ซึ่งมีฐานเสียงหลักเป็นกลุ่มนักธุรกิจเอกชน ประกาศถอนตัวจากการเจรจาร่วมรัฐบาลกับพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี ( ซีดียู ) จากความขัดแย้งเรื่องนโยบายผู้อพยพ
ทั้งนี้ พรรคเอฟพีดีมักเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ของการจัดตั้งรัฐบาลเยอรมนีมาแล้วหลายสมัย แต่การถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ส่งผลให้เยอรมนีเผชิญกับวิกฤติการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นการเพิ่มรงกดดันให้แมร์เคิลเหลือไม่กี่ทางเลือกเท่านั้น ที่รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยร่วมกับพรรคกรีนส์ การเจรจาโน้มน้าวให้พรรคการเมืองอันดับ 2 คือพรรคสังคมประชาธิปไตย ( เอสพีดี ) กลับมาร่วมรัฐบาล แต่นั่นอาจหมายถึงเงื่อนไขที่ต้องแลกเปลี่ยนด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับนายมาร์ติน ชูลซ์ หัวหน้าพรรคเอสพีดี และการจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดครั้งใหม่ ทั้งที่เพิ่งมีการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนก.ย. ที่ผ่านมา
ขณะที่ทางเลือกของชไตน์ไมเออร์ในฐานะประธานาธิบดี เพื่อนำพาเยอรมนีออกจากภาวะชะงักงันทางการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือการเสนอชื่อบุคคลสำหรับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นแมร์เคิลก่อน หากบุคคลที่ประธานาธิบดีเสนอชื่อไม่ได้ความเห็นชอบ รัฐสภามีเวลา 14 วันในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกว่า 2 ใน 3 แต่หากยังคงล้มเหลว ชไตน์ไมเออร์ต้องตัดสินใจระหว่างการให้แผนจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเดินหน้าต่อไป หรือยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน
อย่างไรก็ตาม กระแสคัดค้านการจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดเริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าไม่ว่าอย่างไรผลการเลือกตั้งก็จะออกมา “เหมือนเดิม” และบางส่วนกังวลว่าจะยิ่งเป็นการเพิ่มความนิยมให้กับพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี ( เอเอฟดี ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาตินิยมขวาจัดที่สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นพรรคอันดับ 3 มากถึง 94 ที่นั่ง จากทั้งหมด 709 ที่นั่งในสภาล่าง.
คลิปประกอบ : DW English