วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

“ในหลวง” พระราชทานที่ดิน 43,902 ไร่ เพื่อบริหารจัดการที่ดินสำหรับทำการเกษตร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ในการทำการเกษตรให้ได้ผลดีที่สุดนั้นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลควรจะต้องดูแลเอาใจใส่มีหลายด้านด้วยกัน อาทิ เรื่องของการชลประทาน การพัฒนาคุณภาพดิน แต่ปัจจัยที่สำคัญที่พระองค์ทรงห่วงใยเป็นอย่างยิ่งในการทำการเกษตรก็คือ ที่ดินสำหรับทำการเกษตร พระองค์เคยมีพระราชกระแสรับสั่งว่า หากเราไม่บริหารจัดการที่ดินสำหรับทำการเกษตรให้ดีไม่มีการดูแลระมัดระวังตามสมควรแล้ว ในวันข้างหน้าเราอาจจะต้องเสียที่ดินให้แก่กิจการอื่น และไม่มีที่ดินเหลืออยู่เพียงพอสำหรับการเกษตร 

     

พระองค์ทรงเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการส่งเสริมการเกษตรของประเทศก็คือ การพยายามให้เกษตรกรรักษาที่ดินไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พระองค์ได้ทรงดำเนินการปฏิรูปที่ดินก่อนที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะประกาศออกใช้หลายปี หากแต่ไม่ได้เรียกชื่อว่าเป็นการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น

 

ด้วยพระปรีชาญาณอันสามารถ ทรงเห็นกาลไกลในอนาคตว่านับวันที่ราษฎรชาวไร่ชาวนาจะไม่มีที่ดินทำกินมากยิ่งขึ้นด้วยความยากจนของคนเหล่านั้น พวกที่เคยมีที่ดินจะต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์กลายเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินมากขึ้น บางคนต้องรับจ้างทำนาทำไร่ บางคนต้องเข้าบุกรุกป่าสงวนเพื่อแผ้วถางเป็นที่ทำมาหากิน บางคนอพยพเข้ามาหางานทำในเมือง สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวิตกและห่วงใย บุคคลเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง จึงทรงริเริ่มดำเนินการโครงการพัฒนาที่ดินขึ้นใน “โครงการจัดและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง” อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงทำให้ชาวนาชาวไร่และพสกนิกรชาวไทยทั้งมวลต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าล้นกระหม่อมเป็นอย่างยิ่ง

และช่วงเวลาต่อมาได้มีการประกาศใช้กฎหมายปฏิรูปที่ดิน  เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2518พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระหทัยและให้การสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างเต็มพระราชหฤทัยยิ่ง โดยใน พ.ศ. 2518 พระองค์ได้พระราชทานที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้แก่รัฐบาล จำนวน43,902 ไร่ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ในท้องที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครนายก จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างความปลื้มปิติ และตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกร

นับได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักปฏิรูปที่ดินของประเทศไทยพระองค์แรกที่มีพระอัจฉริยภาพที่ทรงคุณลักษณะแห่งความเป็นผู้นำสูงสุด นับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ ของการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทยซึ่งจะต้องจารึกไว้อย่างมิรู้ลืม

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นอีกหน่วยงานสำคัญที่ได้ยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยในที่ดินทำกินซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ของสำนักการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ จัดที่ดิน สร้างมูลค่าที่ดินทำกิน พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร และคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการพัฒนากฎหมายของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อปกป้องที่ดินทำกิน ให้เป็นมรดกตกทอดตราบชั่วลูกหลานของเกษตรกร และรักษาที่ดินไว้เพื่อเกษตรกรรม

โดยการจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งการปฏิรูปทีดิน และเพื่อให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ส.ป.กได้จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชาขึ้น โดยการ “มอบโฉนดที่ดิน ทำกิน ตอบแทนผืนดินของพ่อ” แก่เกษตรกร จำนวน 199 ราย 245 แปลง

ที่อาศัยอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้นำที่ดินดังกล่าวไปดำรงชีวิตใช้ประโยชน์จากผืนดินในการประกอบอาชีพการเกษตร ตามแนวพระราชดำริอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป

สำหรับโครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชา นอกจากจัดทำขึ้นเพื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระบิดาแห่งการปฏิรูปที่ดินแล้ว โครงการดังกล่าวยังต้องการปลูกฝังให้เกษตรกรเกิดความรักและหวงแหนในผืนดินทำกินของตนเอง โดยหลังจากพิธีมอบโฉนดแล้ว ส.ป.ก. ได้ให้เกษตรกรที่ได้รับโฉนดทำการถวายสัตย์ปฏิญาณทำความดี รักและหวงแหนในผืนดินทำกิน เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกร ตลอดจนเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิ และหน้าที่ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน

สำหรับ การดำเนินการปฏิรูปที่ดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินใน 8 อำเภอ ได้แก่ ลาดบัวหลวง วังน้อย บางไทร บางปะอิน บางบาล พระนครศรีอยุธยา อุทัยและเสนา เนื้อที่ประมาณ 34,000 ไร่ รวมจำนวนเกษตรกรทั้งหมด2,808 ราย แบ่งตามลักษณะการได้มาของที่ดิน 4 ประเภทคือ ที่ดินพระราชทาน 11,164ไร่ ที่ดินราชพัสดุ 2,741 ไร่ ที่ดินบริจาค 320 ไร่และที่ดินเอกชน 19,884 ไร่